ภาพที่ปรากฏต่อสื่อเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา กรณีที่น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผวจ.ปราจีนบุรี กินปลาช่อนแม่น้ำปราจีนบุรีโชว์ให้ชาวบ้านมั่นใจว่าปลอดภัยจากสารปรอทนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่มันเป็นเพียงวิธีการปัดฝุ่นไว้ใต้พรหม ทำให้นึกถึงการกินไก่โชว์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่สร้างภาพกลบข่าวลือกรณีไข้หวัดนกระบาดในอดีต ท่าน ผวจ.ก็รู้ดีว่าว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน /โรงงานกระดาษคือแหล่งปล่อยสารปรอทที่ร้ายแรงที่สุดและสารปรอทเป็นอันตรายร้ายแรงกับประชาชนมากแค่ไหน การออกมาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว จึงไม่ใช่การแก้ไขสาเหตุหรือต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่และเป็นพิษภัยแก่ประชาชนทั้งในปัจจุบันและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านที่จะเติบโตขึ้นมาในวันข้างหน้า การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โหดร้ายและใจดำอำมหิตต่อประชาชน
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยและเป็นข่าวต่อสาธารณะ เมื่อมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (Internation POPs Elimination Network : IPEN) และเครือข่ายได้ร่วมกันศึกษาการสะสมของสารปรอทในปลาและคน ในพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนอุตสาหกรรม 304 บนพื้นที่ 7,500 ไร่ซึ่งประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ โรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงร่วม อุตสาหกรรมเคมีบางชนิด บ่อบำบัดน้ำเสีย กองถ่านหินและอื่นๆ ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน โดยเฉพาะคลองชะลองแวง อันเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน และไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี เป็นแหล่งศึกษาการสะสมของสารปรอท
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กระบวนการเก็บตัวอย่างเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค. 2555 โดยลักษณะการศึกษาตรวจหาสารปรอทในปลาช่อนจำนวน 20 ตัว โดยใช้อุปกรณ์และกรรมวิธีที่ส่งต่อมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อป้องกันข้อโต้แย้ง นับตั้งแต่การเลือกขนาดน้ำหนักตัวปลา วิธีการแล่ปลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเส้นผมของคนในชุมชนจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจสอบด้านสารปรอทโดยเฉพาะ ผลการตรวจวิเคราะห์เส้นผมของประชาชนที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้าและโรงผลิตกระดาษ ในรัศมี 0.5-2 กม.พบว่าทั้ง 20 คน มีปริมาณสารปรอทสูงเกินค่าปริมาณอ้างอิงของประเทศสหรัฐอเมริกา (การเทียบค่าอ้างอิงกับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดค่าปริมาณอ้างอิงของสารปรอทในเส้นผม) คือ 1.00 PM (ส่วนในล้านส่วน) การมีสารปรอทในเส้นผมสูงเพียง 1 ppm อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะทารกในครรภ์ เด็กเล็ก และสตรีที่อาจตั้งครรภ์ในอนาคต
ทั้งนี้งานศึกษาพบปริมาณสารปรอทในเส้นผมของประชาชนตั้งแต่ 1.628-12.758 ppm ทั้งนี้ร้อยละ 90 ของสารปรอทที่สะสมในร่างกายมนุษย์คือ ปรอทอินทรีย์ (เมทิลเมอร์คิวรี่) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหาร การวิเคราะห์ตัวอย่างปลาช่อน 20 ตัวจากคลองชะลองแวง พบปลาทุกตัวมีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานทางอาหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีอาหารสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.02 ppm (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 ) แต่ปลาในพื้นที่ท่าตูมมีสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ 0.067-0.22 ppm
เรื่องร้ายแรงเช่นนี้ในประเทศที่พัฒนาทั้งหลายถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ ที่จะต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในประเทศเยอรมนีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีได้แนะนำหญิงมีครรภ์ให้งดรับประทานปลาที่มีอายุยืนบางชนิด เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนที่จะส่งผ่านจากแม่ไปยังลูก แม้ว่าโรงงานในบ้านเมืองของเขาจะมีการติดตั้งระบบกรองสารปรอทที่มีประสิทธิภาพก็ตาม ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อทราบข่าวสารปรอทปนเปื้อนจากอาหารทะเลถูกนำเข้าไปขายในประเทศของเขา เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รีบออกประกาศให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสารปรอทในปลา (Consumer Advisory on Methylmercury in Fish) ของหน่วยงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) และหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ( EPA) ทันที โดยเฉพาะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสารปรอทในปลาและกุ้งสำหรับสตรีมีครรภ์ และเด็กอ่อน เพราะเขาถือว่าเยาวชนคือหัวใจของการพัฒนา ในคำแนะนำเมื่อปี 2547 หลังจากมีการตรวจพบสารปรอทปนเปื้อนจากอาหารทะเลเข้าสู่ประเทศ เขาบอกประชาชนของเขาว่า
1. ห้ามรับประทานปลาฉลาม (shark-อ่าวเม็กซิโก) ปลาฉนาก (swordfish) ปลาอินทรี (king mackerel) และปลา Tilefish (อ่าวเม็กซิโก) เนื่องจากมีปริมาณสารปรอทตกค้างสูง (ค่าเฉลี่ย 0.73 -1.45 ppm)
2. ให้บริโภคกุ้งและปลาที่มีระดับสารปรอทต่ำได้ 2 มื้อต่อสัปดาห์ (12 ออนซ์ หรือ 340 กรัม) ปลา 4 ชนิดที่มีระดับสารปรอทต่ำ (ค่าเฉลี่ย 0.01-0.12 ppm) ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, light) แซลมอนสดหรือแช่แข็ง (Salmon) ปลา Pollock และปลาดุก (catfish) และกุ้งซึ่งมีระดับสารปรอทต่ำกว่าระดับที่ตรวจสอบได้ (Level of Detection = 0.01 ppm) หรือให้บริโภคเนื้อปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, Albacore) ซึ่งบริโภคกันทั่วไป แต่มีสารปรอทสูงขึ้น (ค่าเฉลี่ย 0.35 ppm) กว่าปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, light) ซึ่งมีค่าสารปรอท 0.12 ppm ได้ 1 มื้อ (6 ออนซ์) ต่อสัปดาห์ และปลาและกุ้ง ข้างต้น อีก 1 มื้อ (6 ออนซ์)
3. ให้ตรวจสอบตามคำแนะนำของท้องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของปลาที่จับจากแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ และชายฝั่ง ถ้าหากไม่มีคำแนะนำให้บริโภคได้เพียง 6 ออนซ์ต่อสัปดาห์เท่านั้น และให้ปริมาณน้อยลง เมื่อใช้เลี้ยงเด็กอ่อน นี่คือความรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะของผู้บริหารประเทศที่พึงกระทำ ไม่ใช่แค่ออกกันมากินโชว์/เปิบโชว์เหมือนที่รัฐบาลหรือข้าราชการบ้านเราที่ทำๆ กันอยู่
กุ้ง หอย ปู ปลา จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งน้ำจืดและทะเล เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ประเทศของเรามีแม่น้ำลำคลองมากมาย มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีทะเล ทะเลสาบ ล้วนเป็นแหล่งอาหารโปรตีนหลักที่ยังอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายหรือมีรายได้จากฐานทรัพยากรดังกล่าว ที่สำคัญโปรตีนจากสัตว์น้ำตามธรรมชาติมีคุณค่าทางอาหารที่จะทำให้กุลบุตรกุลธิดาเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพไม่เป็นโรคขาดสารอาหาร หยุดการแก้ไขปัญหากันด้วยวิธีการกินโชว์ เปิบโชว์กันได้แล้วครับ.