xs
xsm
sm
md
lg

เสียงข้างมากผ่านเอฟทีเอไทย-ชิลี ร่างกรอบไทย-อียู “ณัฐวุฒิ” ปากกล้าบอกไทยไม่เสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ (ภาพจากแฟ้ม)
รัฐสภาลงมติผ่านความเห็นชอบความตกลง “เอฟทีเอ” รัฐบาลชิลีและรัฐบาลไทย พร้อมผ่านร่างกรอบเอฟทีไทย-อียู ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฝ่ายค้านหวั่นไทยถูกบีบยอมรับการขยายสิทธิบัตรยา “ณัฐวุฒิ” ใช้ปากรับประกัน รัฐบาลไทยยอมไม่เสียเปรียบ

วันนี้ (2 ต.ค.) การประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีการพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยพิจารณาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้องและการแก้ไขความคลาดเคลื่อนในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้าของไทย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างความตกลงดังกล่าว ว่า เป็นการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศ ต้องการให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นการต่อยอดสิทธิและพันธกรณีของไทยและชิลีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค ที่จะแก้ไขในเรื่องของภาษี ซึ่งจะส่งผลดีกับไทย เพราะจะทำให้ขยายตลาดการค้าของไทยสู่อเมริกาใต้ เนื่องจากชิลีเป็นคู่ค่าอันดับ 3 ของไทย รองจากบราซิลและอาร์เจนตินา ขณะที่ไทยจะเป็นตลาดการค้าให้กับชิลีสู่อาเซียน และถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะได้ลงนามความร่วมมือในโอกาสที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างบนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับกรอบความตกลงดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดการค้าเพิ่มขึ้นจากเดิมไปสู่อเมริกาใต้ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตถึงข้อกำหนดในความตกลงฉบับนี้ที่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายประการ อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งรีบนำเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ (2 ต.ค.) ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามหลังการอภิปราย ที่ประชุมมีมติ 464 ต่อ 6 เห็นชอบด้วยกรอบดังกล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมรัฐสภายังมีมติเสียงข้างมาก 446 ต่อ 2 เสียงเห็นชอบ ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตและแสดงความห่วงใยว่าสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปจะพยายามหาทางต่ออายุสิทธิบัตรยาออกไปเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลให้คนไทยต้องบริโภคยาแพงเกินไป

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเมินได้ว่าการเจรจาระหว่างอียูกับไทยหลายครั้งในอนาคตทางอียูจะแสดงท่าทีที่ต้องการขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปให้นานขึ้น ซึ่งประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนและหัวใจที่สุดของกรอบการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ทีมเจรจาของไทยและรัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งออกไปว่าจะไม่ยอมให้มีการต่ออายุสิทธิบัตรยาในทุกกรณี เพราะถ้ายอมให้ต่ออายุสิทธิบัตรยาออกไปอีกจะส่งผลให้คนไทยบริโภคยาแพงขึ้น

“ที่ผ่านมาผู้ผลิตยามักอ้างว่าการขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทยผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นอย่างล่าช้า ทำให้มีข้ออ้างว่าจะขอใช้เวลาที่ล่าช้าในส่วนนี้เพื่อขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและทีมเจรจาต้องมีจุดยืนให้หนักแน่นว่าจะปฏิเสธการต่ออายุสิทธิบัตรยาของอียูในทุกทาง แม้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียูที่มากถึงประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญ แต่ส่วนตัวคิดว่าการเข้าถึงยาเพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”

ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การจะมาให้เปิดเผยท่าทีการเจรจาขณะนี้เห็นว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและผิดธรรมเนียม แต่ยืนยันว่ารัฐบาล และทีมเจรจาของไทยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขในฐานะแม่งาน และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้เจรจาได้ทำงานร่วมกันมาตลอด และได้รับฟังข้อห่วงใยของภาคประชาชนเต็มที่เพื่อไม่ให้ไทยเสียประโยชน์ ซึ่งการเจรจาการค้าเสรีกับอียูคิดว่าต้องมีการเจรจาร่วมกันอีก 7-8 ครั้ง รวมแล้วต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น