xs
xsm
sm
md
lg

เอฟทีเอวอตช์ถามจุดยืน “ประดิษฐ” ทำเพื่อประชาชนแค่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอฟทีเอวอตช์ ถามจุดยืนหมอประดิษฐมุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเช่นเดียวกับหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทยแค่ไหนจะยอมให้อียูแทรกแซงผู้เจรจาหรือไม่
นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTAWatch) เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม

“ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่าจะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอวอตช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร

ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการและการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา “นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่าทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทยด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เราอยากทราบว่ามีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นหมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไรจะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรีเพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น

เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหาองค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ บ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่าสหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆ อย่างชัดแจ้งจะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆ โดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้นแต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีกเราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียนสหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้” นายนิมิตร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น