xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนจับตา FTA ไทย-สหภาพยุโรปนัดชุมนุมเชียงใหม่ ย้ำคณะเจรจารอบคอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม FTA watch ประกาศเตรียมชุมนุมที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ 18-19 ก.ย. จับตาการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หวั่นกระทบประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการเกษตร ย้ำคณะเจรจารัฐบาลไทยต้องตระหนักถึงผลกระทบรอบคอบ

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA watch) ประมาณ 50 คน นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นางสาวกิ่งกร นรินทร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ แถลงข่าวการจับตาการเจรจาการค้าเสรี(FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน

โดยทางกลุ่มเตรียมที่จะจัดการกิจกรรมรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบหากมีการตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในวันที่ 18-19 ก.ย. ที่บริเวณประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ วันที่ 19 ก.ย.จะเดินขบวนรณรงค์ไปหน้าโรงแรมที่เป็นสถานที่จัดการประชุมด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,000 คน

นายนิมิตร์กล่าวว่า กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA watch) เป็นการรวมกลุ่มกันของภาคประชาสังคมหลายภาคส่วน ทั้งเครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภค และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ การจัดกิจกรรมในวันที่ 18-19 ก.ย.ที่ประตูท่าแพ เป็นกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องการค้าเสรีและผลกระทบต่อประชาชน โดยกล่าวว่าหากไทยยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิบัตรยาก็จะกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอน ก่อให้เกิดการจำกัดการเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

“การจัดกิจกรรมและชุมนุมโดยสงบที่จะมีขึ้นนี้เพื่อแสดงพลังสนับสนุนให้ทีมเจรจาของรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ ไม่ทำการตกลงในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้น และระยะยาว”

ขณะที่ น.ส.กิ่งกรกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยมี 3 เรื่องหลัก คือ ต้องเป็นภาคี UPOV1991 ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรง และกว้างขวาง โดยเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์จะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยน จะมีความผิดถึงขั้นติดคุก และจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง ถือว่าเป็นการทำลายอธิปไตยทางอาหารของประเทศ

หากประเทศไทยยอมให้มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก จะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น และประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติเท่านั้น

“ถ้าหากยอมให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาทต่อปี และหากยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา ก็จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี”



กำลังโหลดความคิดเห็น