xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคมหนุนจุดยืน มวล. หลังอธิการบดีเบรกนักวิชาการเอี่ยว “โรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ภาคประชาสังคม และผู้นำท้องถิ่นกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นครศรีฯ เข้าสนับสนุนจุดยืนทางวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลังจากอธิการบดีไม่อนุมัติให้นักวิชาการเข้าศึกษาผลกระทบเบื้องต้นด้วยทุนของ กฟผ. วงเงิน 2 ล้านบาท

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภาคประชาสังคม และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 100 คน ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รวมตัวกันเข้าพบ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง

เพื่อแสดงการสนับสนุนบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการเป็นหลักให้แก่ท้องถิ่น หลังจากที่อธิการบดี และผู้บริหารวิชาการไม่อนุมัติโครงการศึกษาผลกระทบเบื้องต้น (IEE) ที่มีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งออกทุนจำนวน 2 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมีการเสนอโครงการนี้โดยนักวิชาการ ในสังกัดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเข้าไปทำการศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย

ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารอธิบายได้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆ เห็นว่าพื้นที่ อ.หัวไทร กำลังวิกฤตที่สุด เข้าใจว่า กฟผ. วางน้ำหนักที่นี่ และต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ แม้ว่าไทยในวันนี้กำลังเข้าสู่ยุคไทยเฉย ความทุกข์ยากไม่ได้ถูกรับฟังจากสังคม

“ปัญหาที่เกิดขึ้นผมเห็นว่าสังคมไทยไม่สร้าง และไม่ให้ความรู้ ซึ่งหากเราไม่สร้างองค์ความรู้ เราจะไม่มีทางไป โดยเฉพาะองค์ความรู้สาธารณะซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่มี ทั้งที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะที่เปลี่ยนไปเป็นแบบข้ามชาติ ทรัพยากรของท้องถิ่นเปลี่ยนสภาพไปเป็นทรัพยากรโลก ไม่ใช่ของท้องถิ่นอีกต่อไป คนที่ได้รับผลกระทบไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง และจะถูกตีตราว่าล้าหลัง ขัดขวางการพัฒนา”

ดร.เลิศชาย ระบุต่ออีกว่า เห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่ควรเป็นเครื่องมือเข้าไปสู่ความขัดแย้ง การใช้ความรู้เบียดขับคนเล็กคนน้อยออกจากแผ่นดินของเขาเพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ แม้ว่าจะเกิดคำถามว่าปัญหานั้นเป็นอย่างไรแน่ แต่จากโครงการที่ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้น ตนเห็นว่าแม้ว่านักวิชาการจะอยากรู้ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่อ้างได้ แต่เมื่อรับทุนโครงการเขามาแล้วอ้างว่าอยากรู้นั้น คิดว่าคุณธรรมนักวิชาการไม่เหลือ ซึ่งเห็นว่าควรที่จะใช้งบของตัวเองดีกว่า ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ปกป้องวิชาการ ขอบคุณประชาชนที่เข้าใจบทบาทของมหาวิทยาลัย และยืนยันว่าสถานศึกษาแห่งนี้เป็นพื้นที่ของทุกฝ่ายที่มาพูดคุยศึกษากันได้ เพื่อให้ได้ความรู้สาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความรู้ที่มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน

“เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดนั้น ผมพยายามสืบค้น มันไม่มีอยู่จริงเรื่องถ่านหินสะอาด แต่เรากำลังอยู่ในยุคความรู้ครอบงำ สถานการณ์ในการใช้ความรู้ปัจจุบันตกต่ำมาก ตอนนี้ไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นอย่างไร สนใจแต่ตัวเองกันเป็นหลัก” ดร.เลิศชายกล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวยืนยันว่า จุดยืนของมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องทำสิ่งนี้ให้ชัด การวางจุดยืนของมหาวิทยาลัยในสถานการณ์ทางสังคมแบบนี้ยาก ความรู้ถูกต้องอย่างเดียวไม่พอ ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมขาดความไว้วางใจ จะต้องเปิดการรับฟังกันให้มากขึ้น

“บางโอกาสถูกบิดเบือน พูดถูกต้องทางวิชาการแต่อาจไม่ถูกใจทุกคน หรือเข้าทางสำหรับคนบางกลุ่ม อาจถูกตีความนับเป็นความยากลำบาก แต่เราต้องพยายาม และยืนยันว่าเราจะไม่ทอดทิ้งคนเล็กคนน้อย การพัฒนาที่ยั่งยืนทุกคนท่องได้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร ภาพที่พึงประสงค์ที่เราต้องการนั้นอยู่ที่เราไม่มีพลังร่วมมากเพียงพอ บทบาทของมหาวิทยาลัยนั้นในสถานการณ์ทางสังคมปัจจุบันเห็นว่าความรู้ที่ถูกต้องอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องเปิดการรับฟังให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพยายามทำใน 4 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ให้เข้ามาร่วมกันให้ได้มากที่สุด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จะมีครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ขณะที่คณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยังปฏิบัติงานเดินหน้าเพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.หัวไทร อย่างต่อเนื่อง

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น