เอเอฟพี - องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 159 ประเทศ บรรลุข้อตกลงการค้าพหุภาคี “ครั้งประวัติศาสตร์” ในการประชุมรัฐมนตรีที่เกาะบาหลี ซึ่งนับเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับบทบาทขององค์กรแห่งนี้ หลังจากที่การเจรจารอบโดฮายืดเยื้อ และไร้ผลมานานถึง 12 ปี
แม้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการขจัดกำแพงภาษี และอุปสรรคทางการค้าได้โดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ได้จากการประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ครั้งที่ 9 ณ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของ WTO ในการโน้มน้าวให้เกิดข้อตกลงการค้าระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การขึ้นในปี 1995
โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการ WTO คนปัจจุบัน กล่าวในพิธีปิดการประชุมว่า “เป็นครั้งในแรกประวัติศาสตร์ของเราที่ WTO สามารถบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ”
การลงนามรับรองข้อตกลงมีขึ้น เมื่อคิวบา และชาติละตินอเมริกาอีก 3 ชาติ ยอมรับข้อตกลงในนาทีสุดท้าย ภายหลังจากที่มีการลบย่อหน้าที่เป็นคำสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าสหรัฐฯ ต่อคิวบา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้การประชุมต้องยืดเยื้อข้ามคืนเข้าสู่วันนี้ (7) เป็นวันที่ 5 โดยไม่ได้วางแผนไว้
ประเทศภาคีต่างให้คำมั่นสัญญาที่จะลดขั้นตอนภาษีศุลกากรลง และจำกัดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนที่สุด
สถาบันเพื่อเศรษฐศาสตร์นานาชาติปีเตอร์สัน ซึ่งมีฐานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเมินว่า มาตรการลดกำแพงภาษีนี้หากสามารถปฏิบัติได้จริงอย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างงานได้ถึง 21 ล้านตำแหน่ง แต่ไม่ได้ระบุว่าตัวเลขเหล่านี้มาจากวิธีการคำนวณอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ WTO ยอมรับว่า การจะปฏิบัติให้ได้ตามข้อตกลงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า การเจรจารอบโดฮาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2001 และยืดเยื้อมานานถึง 13 ปี บ่งบอกว่าการผลักดันข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติจริงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ไซมอน อีฟเน็ตต์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย เซนต์ กัลเลน ในสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หากการเจรจาที่เกาะบาหลีล้มเหลวจะกระทบต่อชื่อเสียงของ WTO อย่างมาก “แต่ก็ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การต่อรองระหว่างมหาอำนาจการค้านั้นยากเย็นเพียงใด และก็ไม่มีทีท่าว่าจะง่ายดายขึ้น”
คีตา วีรจาวัน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม ยกย่องข้อตกลงฉบับนี้ว่าเป็น “ข้อตกลงประวัติศาสตร์” ขณะที่ อาเซเวโด ชี้ว่า มันมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่อการประชุมรอบโดฮา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า และจัดทำกรอบข้อตกลงที่จะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศโดยเท่าเทียมกัน
การเจรจา WTO ที่เกาะบาหลีเสี่ยงจะ “ล่ม” มาหลายครั้งหลายหน เนื่องจากแต่ละประเทศต่างต้องการปกป้องนโยบายคุ้มครองการค้าของตนเอง ตัวอย่างเช่น อินเดีย ซึ่งต้องการกักตุนและอุดหนุนราคาธัญพืชเพื่อช่วยเหลือคนยากจนหลายล้านคนในประเทศ และขอให้มาตรการนี้ได้รับยกเว้นจากระเบียบของ WTO ไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศก็แย้งขึ้นมาว่า นโยบายอุดหนุนธัญพืชของอินเดียละเมิดความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนราคาสินค้า
ผู้อำนวยการ WTO ยังแสดงความเป็นห่วงผลกระทบของข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่มีสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตี และมีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 12 ประเทศ โดยชี้ว่า การรวมกลุ่มลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อประเทศยากจนซึ่งไม่มีพื้นที่เจรจาด้วย