ครม.ไฟเขียวแอร์พอร์ตลิงก์ซื้อรถ City Line เพิ่ม 7 ขบวน วงเงิน 4.8 พันล้าน โดยให้ ร.ฟ.ท.กู้เงิน กำหนดจัดหาเสร็จใน 18 เดือนรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตกว่า 100% คาดรองรับได้ถึง 7 หมื่นคนต่อวัน และเห็นชอบลดหย่อนภาษีโรงเรือนรายปีให้ รฟม.จาก 136 ล้าน เหลือ 16 ล้าน ด้าน “ชัชชาติ” ลุ้น พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เตรียมแผนสำรองหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ไม่ผ่าน แต่ยอมรับคงกระทบโครงการระยะสั้นพวกซ่อมถนนและมอเตอร์เวย์โคราช
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดหารถขบวนไฟฟ้าธรรมดา (City Line) เพิ่มเติมอีก 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงินรวม 4,854.41 ล้านบาท โดยให้เร่งดำเนินการจัดหาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 18 เดือน โดยให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้กู้เงิน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมถึงพิจารณาวิธีการ เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อนำมาให้บริการประชาชนและบรรเทาความแออัด รวมถึงรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีขบวนรถ City Line ให้บริการเพียง 5 ขบวน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการถึงวันละ 32,000 คน และล่าสุดในปีนี้มีผู้โดยสารเพิ่มสูงถึงกว่า 50,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 130% และคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นจึงต้องเร่งจัดหาขบวนรถใหม่มารองรับ หากจัดหาได้ครบตามกำหนดจะทำให้มีขบวนรถไว้บริการถึง 12 ขบวน สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึงวันละ 70,000 คน
โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า หากจัดหาขบวนรถดังกล่าวได้เสร็จสิ้นจะส่งผลให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด สามารถเพิ่มศักยภาพการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิมชั่วโมงละ 3,725 คนต่อทิศทาง เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 9,305 คนต่อทิศทาง รวมถึงสามารถเพิ่มความถี่ของขบวนรถจากเดิมที่ 12 นาทีต่อขบวนเป็น 8 นาทีต่อขบวน และยังเป็นการเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์สำหรับการขนส่งผู้โดยสาร ทำให้บริษัทกำหนดแผนการตลาดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการรองรับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลด้วย
ส่วนโครงสร้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) นั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าจะแยกออกจาก ร.ฟ.ท. โดย ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% แต่แอร์พอร์ตลิงก์จะมีอิสระในการบริหารงานมากขึ้น สามารถรับรู้รายได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้แอร์พอร์ตลิงก์มีเงินหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าจัดซื้ออะไหล่สำรองอีกด้วย ซึ่งตามการศึกษาคาดว่าในช่วง 5 ปีแรกรายได้จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถ 7 ขบวน แต่ในภาพรวมทางการเงินจะยังขาดทุนอยู่ เพราะจะต้องทยอยจ่ายเงินต้นบางส่วน แต่จะค่อยๆ ดีขึ้น คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนหลังปรับปีที่ 10 ไปแล้ว โดยจะเร่งสรุปรายละเอียดเสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้ลดหย่อนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินรายปีให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประจำปี 2548 ถึงปีภาษี 2553 จากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดไว้จำนวน 1,289 ล้านบาท ลงเหลือ 136 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินภาษีจำนวน 16 ล้านบาท เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า รฟม.เป็นกิจการที่ให้บริการประชาชน และคิดค่าบริการต่ำกว่าต้นทุน ส่งผลให้ผลประกอบการมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง
นายชัชชาติกล่าวถึง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า แม้ว่า พ.ร.บ.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา เนื่องจากต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีที่กฎหมายไม่ผ่าน เชื่อว่ายังสามารถดำเนินโครงการต่างๆ ในวิธีการอื่นได้ โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมอีกครั้ง
“เชื่อว่าโครงการไม่แท้งแม้ พ.ร.บ.กู้เงินยังมีปัญหา เพราะเป็นเรื่องของวิธีไฟแนนซ์เท่านั้น ถ้าไม่ผ่านก็ยังมีวิธีอื่น โครงการใหญ่ๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงยังอยู่ตามแผน ตัวโครงการไม่กระทบเพราะเป็นแผนระยะยาว แต่อาจจะกระทบโครงการที่เป็นแผนระยะสั้นบ้าง เช่น โครงการซ่อมบำรุงถนน, ขยายจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร รวมทั้งโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ที่ต้องเร่งสร้างเพื่อบรรเทาความแออัดของทางหลวงสายหลัก” นายชัชชาติกล่าว