xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เดินลุยท่วมศรีสะเกษ-อุบลฯ สั่ง “ปลอด” ระบายน้ำ ให้ กบอ.ขีดแนวป้องกันเขต ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ และ รมว.กห.ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมศรีสะเกษ-อุบลฯ มอบสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย ผู้ว่าฯ แดนพระวิหาร แจงมาตรการป้องกัน เจ้าตัวเผยสั่ง “ปลอดประสพ” เร่งระบายน้ำแล้ว ให้คมนาคมซ่อมถนนหลังน้ำลด โยน กบอ.ทำแผนที่จุดเศรษฐกิจสร้างแนวป้องกัน ก่อนเยี่ยมชุมชนหนองหัวหมู เดินลุยน้ำมอบถุงยังชีพ


วันนี้ (30 ก.ย.) ที่ท่าอากาศยาน บน.6 ดอนเมือง เมื่อเวลา 11.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้าและการเกษตร (องค์การมหาชน) เดินทางตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี โดยได้เดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศจากท่าอากาศยานกองบิน 6 ดอนเมือง (บน.6) ไปยังกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี จากนั้นจึงออกเดินทางด้วยขบวนรถยนต์ ไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ต่อมาเวลา 13.10 น. นายกฯ พร้อมคณะเดินทางถึงหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง เพื่อมอบนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ พร้อมพบปะให้กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย และได้มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า 2,000 คน โดยมีนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมว่า ได้รับผลกระทบ 160 ตำบล 1,552 หมู่บ้าน และ มีประชาชนเสียชีวิต 9 ราย ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 6 ราย

นายประทีปกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.ศรีสะเกษในระยะสั้นประกอบด้วย 1. การก่อสร้างอาคารพร่องน้ำในอ่างเก็บรับน้ำของกรมชลประทาน 14 แห่ง งบประมาณ 50 ล้านบาท 2. ซ่อมแซมประตูระบายน้ำในห้วยสำราญ 3 แห่ง งบประมาณ 30 ล้านบาท 3. เร่งรัดการอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 4. เร่งรัดการทำโครงการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการขุดลอกคลองน้ำสาธารณะ 5. การบังคับใช้กฎหมายของกรมทางหลวงเรื่องการขออนุญาตเชื่อมทางเข้าออกเพื่อป้องกันน้ำท่วม และ 6. การบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากโดยระบบโซนนิ่งให้พิจารณาตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ด้วยความสมัครใจ

นายประทีปกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น 1. โครงการผันน้ำลำห้วยสำราญ แนวที่ 1 ระยะทาง 8 กิโลเมตรงบประมาณ 190 ล้านบาท 2. โครงการผันน้ำลำห้วยสำราญแนวที่2 ระยะทาง 60 กิโลเมตร ประมาณ 90 ล้านบาท 3. โครงการสร้างประตูระบายน้ำและโรงสูบน้ำปากห้วยสำราญออกแม่น้ำมูล งบประมาณ 90 ล้านบาท 4. จัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมเขตชุมชนโดยใช้เกณฑ์ระดับน้ำที่เคยท่วมในปี 2543 5. เพิ่มช่องทางการระบายน้ำบริเวณถนนที่เป็นทางกีดขวางน้ำไหลงบประมาณ 130 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ได้กล่าวให้กำลังใจและขอบคุณประชาชนที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นถึงแม้จะประสบอุทกภัย และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ตนติดตามสถานการณ์พร้อมประสานงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาในการเร่งระบายน้ำ สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนหรือการระบายน้ำ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และจังหวัด เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ ขณะที่การดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งได้กำชับให้หน่วยงานส่วนหน้าในพื้นที่ให้การดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหายต่างๆ ของประชาชน รวมถึงให้สำรวจเส้นทางสัญจร โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมเร่งซ่อมแซมถนนหนทางทันทีหลังจากที่น้ำลด

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ส่วนในระยะยาวจะทำงานในภาพรวมเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยขอให้ กบอ.รวบรวมศึกษาแผนสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจในจังหวัดศรีสะเกษ ต้องทำแนวป้องกันน้ำในพื้นที่อย่างถาวรเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางทำงานร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นในการกำหนดจุด ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลจะติดตามเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเห็นด้วยกับที่ผู้ว่าราชการศรีสะเกษที่ได้เสนอมาแล้ว โดยจะมีการสำรวจความเห็นของประชาชนด้วย อย่างไรก็ขอบคุณพี่น้องด้วยที่แม้น้ำจะท่วมแต่ก็ยังเดินทางมาให้กำลังใจ

จากนั้น นายกฯ ได้เดินทางไปที่ชุมชนหนองหัวหมู อ.เมือง ที่ประสบอุทกภัย 85 ครอบครัว เพื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีประชาชนออกมาตั้งเต็นท์นอนริมถนน โดยนายกฯ ได้เดินลุยน้ำเพื่อมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่พายเรือมารอรับด้วยด้วย ทั้งนี้นายกฯ กล่าวว่า จะพยายามให้ความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในที่ที่มีการจัดเตรียมไว้ ไม่ต้องเป็นห่วงได้เรื่องของทรัพย์สิน เพราะจะมีการสั่งในให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในส่วนนี้

จากนั้นเวลา 14.45 น. นายกฯ และคณะเดินทางไปยังที่ว่าการ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อมอบนโยบายจัดการน้ำ และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งประสบอุทกภัย ซึ่งอำเภอกันทรารมย์ประสบอุทกภัย 14 ตำบล 70 หมู่บ้าน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอบคุณหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนที่ทำงานแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ตนได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีปริมาณฝนเพิ่มเติมก็จะกลับสู่ปกติ อย่างไรก็ตาม ขอฝากทางจังหวัดในการสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวโดยมอบหมายให้นายปลอดประสพจัดทำแผนนำน้ำมาใช้ในระบบชลประทาน

ต่อมาเวลา 15.40 น.ได้เดินทางไปยัง ชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการอุบลราชธานี ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จ.อุบลราชธานีได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 23 อำเภอ 114 ตำบล 1,130 หมู่บ้าน มีประชาชนอพยพ 2,632 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 184,764 ไร่ได้รับผลกระทบมากที่สุดใน อ.วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร และนาเยีย และคาดว่ามวลน้ำจาก จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ จะมาสมทบอีก ทำให้น้ำท่วมขังอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ทางจังหวัดขอเสนอรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว 1. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง งบประมาณ 390 ล้านบาท 2. ก่อสร้างถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กระยะทาง 1,500 เมตร งบ 100 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวกับประชาชนว่า พร้อมรับข้อเสนอและปัญหาต่างๆเพื่อบูรณาการแก้ไข ซึ่งอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก จ.ศรีสะเกษ และอีกภายใน 2 -3 วันนี้ต้องระวังมวลน้ำที่จะมาอีกรอบหนึ่ง อย่างไรก็ตามขอฝากการทำงานระหว่างกรมชลประทานในการป้องกัน และการให้การช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องมีไฟฟ้าใช้ น้ำดื่มที่สะอาด และมีการปฐมพยาบาลเป็นอย่างดี ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมกันแก้ปัญหากับทางจังหวัด และมอบให้มอบหมายให้ ปภ.ให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของรัฐ ซึ่งประชาชนสามารถยืนเรื่องหรือลงทะเบียนได้ ส่วนถนนหนทางที่ได้รับความเสียหายนั้นก็จะรีบซ้อมแซมให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามขอขอบคุณหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมถึง ส.ส.ในพื้นที่ที่ช่วยเหลือประชาชน จากนี้เราจะทำงานบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย

จากนั้นนายกฯและคณะได้ลงเรือท้องแบนเพื่อมอบถุงยังชีพและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนชาวชุมนุมเกตุแก้วที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม จำนวน 230 ครัวเรือน โดยมีประชาชนพายเรือออกมารอรับถุงยังชีพจำนวนมาก นอกจากนี้ชาวชุมชนบางส่วนได้กางเต้นนอนข้างถนน เพราะบ้านเรือนได้รับน้ำท่วมไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีระดับน้ำสูงเกือบถึงชั้น 2 ของบ้าน

ในการเดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ประชาชนที่มารอรับต่างให้ความสนในกับทะเบียนรถโฟคตู้สีดำ ทะเบียน นน 333 กรุงเทพมหานคร ที่นายกฯใช้ในการเดินทาง เพราะใกล้วันหวยออก หลังเสร็จสิ้นภารกิจนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยังกองบิน 21 อุบลราชธานี เวลา 17.10 น.เพื่อเดินทางกลับ กทม.












กำลังโหลดความคิดเห็น