นายกฯ ควง ปธ.ที่ปรึกษาชาติไทยพัฒนา ยกโขยง รมต.ลงพื้นที่น้ำท่วมปราจีนบุรี เผยสั่งกรมชลฯ นำเครื่องสูบน้ำติดตั้งเร่งระบายสู่บางปะกง เชื่อ 7 วันสถานการณ์คลี่คลาย เปรยน้ำท่วมปราจีนบุรีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง “บรรหาร” รู้ดีบอก 30 ปีเกิดขึ้นที ปีหน้าไปที่อื่น ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรีรีบขอรัฐบาลขุดฟลัดเวย์ไปบางคล้า อ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่ง
วันนี้ (29 ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยชาติไทย อดีตนายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ประธาน กบอ. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เดินทางด้วยรถจีเอ็มซีของกองทัพบกมายังประตูระบายน้ำกระพ้อใหญ่ (ท่าแห) ต.วังดาร อ.กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยระหว่างทางนายกรัฐมนตรีได้แวะพบกับชาวบ้าน รวมทั้งแจกสิ่งของและถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยทั้งนายกรัฐมนตรีและนายบรรหารต่างให้กำลังใจและบอกกับชาวบ้านอย่างเห็นใจว่าลงมาช่วยเหลือแล้วไม่ต้องห่วง ความเดือดร้อนต่างๆ จะเร่งแกปัญหาให้
ต่อมานายกรัฐมนตรีพร้อมนายบรรหารตรวจดูปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำกระพ้อใหญ่ (ท่าแห) พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า จากการแก้ปัญหาที่กบินทร์บุรี ปริมาณที่ประตูระบายน้ำท่าแห ทางจังหวัดและกรมชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำตามที่ชาวบ้านร้องขอ ขณะเดียวกันกรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายไปลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี หรือแม่น้ำบางปะกงให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทำในวันนี้คือการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง ก็มอบหมายให้ทางกรมป้องกันแบะบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปช่วยเหลือเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ รวมทั้งตั้งโรงครัวขนาดเล็กเพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ทิ้งบ้านมีอาหารรับประทาน ขณะเดียวกันต้องเร่งสำรวจพื้นที่เสียหายโดยมอบหมายให้ ปภ.บูรณาการกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระหว่างที่รอการระบายน้ำ ซึ่งได้สัางการเร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ วันนี้เราเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้ กบอ. กรมชลประสานเร่งสำรวจพื้นที่ใดบ้างที่สามารถระบายน้ำหรือขุดคลองได้ และในระยะยาวก็จะนำเอาแผนงานทั้งหมดไปพิจรารณาเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย
“ความจริงสภาพน้ำท่วมขังที่ปราจีนบุรีก็จะเจอบ่อยครั้ง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ด้านนายบรรหารกล่าวเสริมว่า เท่าที่ประเมินสถานการณ์คาดว่าภายใน 7 วันน่าจะดีขึ้น หากสามารถดำเนินงานตามแนวนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการทั้งการนำเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำทั้งหมดลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขณะนี้แม่น้ำบางปะกงยังมีขีดความสามารถรับน้ำได้อีกมาก อีก 7 วันถ้าไม่เกิดอะไรตามมาสถานการณ์ทุกอย่างจะคลี่คลาย เมื่อถามว่าแต่หากยังมีปริมาณน้ำฝนและน้ำจากสระแก้วไหลบ่าลงมาอีกสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นายบรรหารกล่าวยอมรับว่าปริมาณน้ำก็คงมีมาก ซึ่งรัฐบาลก็ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งระยะยาวก็ต้องมีการวางแผน
“แต่ฝนลักษณะเช่นนี้ 30 ปีจะเกิดขึ้นครั้ง ธรรมดาจะไม่มาบ่อย ปีหน้าอาจเคลื่อนย้ายไปตกในพื้นที่อื่น รัฐบาลก็ต้องเร่งวางแผนแก้ปัญหาต่อไป” นายบรรหารกล่าว
จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางพบปะเยี่ยมเยียน พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอกบินทร์บุรี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปีนี้ปราจีนบุรีมีปริมาณน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเร่งรัดแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ตนได้ติดตามข่าวสารและสถานการณ์แก้ปัญหาร่วมกับ กบอ. กรมชลประทาน การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายบรรหาร ได้ลงมาในพื้นที่เห็นสภาพปัญหาเพื่อลงไปบูรณาการเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนการแก้ไขปัญหาจังหวัดปราจีนบุรีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทำอย่างไรให้การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว โดยกรมชลประทานได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง และความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทางจังหวัด อปท. เครือข่ายภาคประชาชนเร่งให้ความช่วยเหลือ และตนได้สั่งการในฐานะ รมว.กลาโหม สั่งการให้กองทัพเข้าไปในพื้นที่ขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ และลำเลียงประชาชนออกนอกพื้นที่ พร้อมสั่งการให้จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความห่วงใยและพยายามทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาให้ทุกคน
น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี รายงานสถานการณ์ว่า จังหวัดปราจีนบุรีมีแม่น้ำปราจีนบุรีไหลผ่าน อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองฯ และ อ.บ้านสร้าง ซึ่งเป็นลำน้ำสายเดียวในการระบายน้ำ พื้นที่ตอนบนมีศักยภาพในการสร้างอ่างเก็บน้ำแต่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้ไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เมื่อเกิดฝนตกทำให้เกิดอุทกภัยทุกปี นอกจากนี้ฝนที่ตกในลำน้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลมาจากจังหวัดสระแก้วมาบรรจบที่แควหนุมาน ซึ่งไหลมาจากเขาใหญ่ใน จ.ปราจีนบุรี ที่ อ.กบินทร์บุรี ทำให้จังหวัดปราจีนบุรีต้องบริหารจัดการน้ำของ จ.สระแก้วด้วย
ทั้งนี้ ในปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ทำให้ปริมาณน้ำของลำน้ำส่ขาและแม่น้ำปราจีนมีปริมาณน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อวันที่ 19 ก.ย.มีฝนตกเกิน 100 มม. ทั้งในพื้นที่ปราจีนบุรีและสระแก้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น และท่วมพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 27 ก.ย.มีระดับน้ำวัดได้ 11.81 เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 3.31 เมตร สูงที่สุดเท่าที่มีการจัดเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2484 เป็นต้นมา ซึ่งสถิติเคยสูงสุดในปี 2533 สูง 11.70 เมตร พื้นที่ประสบอุทกภัยและผลกระทบ 7 อำเภอ 45 ตำบล 363 หมู่บ้าน 3 เทศบาลตำบล 21 ชุมชน ราษฎรประสบภัยพิบัติ 11,765 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 94,601 ไร่ บ่อปลา 605 บ่อ สัตว์เลี้ยง 77,979 ตัว ถนน 311 สาย สะพาน 6 แห่ง วัด 36 แห่ง โรงเรียน 42 แห่ง ผู้เสียชีวิต 2 ราย
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยการเปิดน้ำเข้าทุ่งบางพลวง ที่ประตูระบายน้ำหาดยาง อ.ศรีมหาโพธิ เปิดน้ำเข้าทุ่งท่าแห 3 ประตู และได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจาก กบอ. 17 เครื่อง สำหรับอุปสรรคในการทำงาน ประกอบด้วยเรือไม่เพียงพอในการช่วยเหลือ, ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนเกษตรด้านการระบายน้ำ ซึ่งต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในระบบป้องกันและบรรเทาอุทกภัย (Flood Way) จาก อ.ศรีมหาโพธิ ไปลงคลองคูมอญ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 54.5 กม. สร้างอ่างเก็บน้ำใสน้อย ใสใหญ่และสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว อ.ประจันตคาม
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเน้นย้ำการให้ความช่วยเหลือประชาชน
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ในฐานะประธาน กบอ.กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถระบายน้ำจากพื้นที่ปราจีนบุรีได้แล้ว 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออีก 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าอีก 2 สัปดาห์ สามารถระบายน้ำได้อีก 600 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกอย่างก็จะคลี่คลาย ปัจจุบันพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ในกบินทร์บุรี มีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยซึ่งในอดีตเรียกว่าทุ่งกบินทร์บุรี รองรับน้ำ 800-900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำก็เท่าเดิม เพียงแต่เมืองขยาย ประขาชนเข้ามาอาศัย มีโรงงาน การไหลของน้ำก็ย่อมล่าช้าซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข