ปราจีนบุรี - “นายกฯปู” ควง “บรรหาร” ลงตรวจสภาพน้ำท่วมปราจีนบุรี บอกชาวบ้านให้ “อดทนกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกสักระยะ” ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านไร่ กบินทร์บุรี ยังหนักสูง 2 เมตร
วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสภาพพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปราจีนบุรี และใกล้เคียง โดยพบว่า น้ำที่ท่วมส่วนใหญ่ได้เข้าท่วมไร่นา และสวนของประชาชนกินเนื้อที่เป็นบริเวณกว้าง
หลังจากนั้น ได้ขึ้นรถจีเอ็มซีของทหารเพื่อตรวจสอบพื้นที่ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงชนบท เชื่อมต่ออำเภอกบินทร์บุรี ไปอำเภอศรีมหาโพธิ ระหว่างทางจะมีเต็นท์ของประชาชนมาตั้งพักอาศัยอยู่ตลอดข้างทาง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แวะทักทายพร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือให้แก่ประชาชน
พร้อมทั้งไปตรวจสภาพพื้นที่การระบายน้ำบริเวณประตูระบายน้ำกระพ้อใหญ่ หรือประตูน้ำท่าแห อำเภอกบินทร์บุรี เพื่อตรวจสภาพระดับน้ำ ซึ่งสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จึงได้สั่งการให้ชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงให้เร็วที่สุด พร้อมมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งอพยพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมออกมาในที่ปลอดภัย จากนั้นให้ทำการสำรวจความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านไร่ หมู่ 10 ตำบบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ขณะนี้น้ำได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทุ่งนาที่อยู่ 2 ข้างทาง กลายเป็นผืนน้ำเดียวกัน ระดับ ความสูงประมาณ 2 เมตร
โดยชาวบ้านในพื้นที่เผยว่า “น้ำท่วมบ้านของตนมาประมาณ 2 วันแล้ว หลังจากน้ำในคลองชลประทานกัดเซาะถนนในพื้นที่บ้านเกาะแดงขาดเป็นทางยาว ทำให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่บ้านไร่ จนเต็มพื้นที่ วันนี้ นายกฯ ปู มาดูเห็นด้วยตาตนเองแล้วไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือพวกเราชาวนาอย่างไรบ้าง”
ด้านนางจิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สรุปสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดว่า ปัจจุบันปริมาณฝนอยู่ที่ 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นและไหลเข้าท่วมพื้นที่ ระดับน้ำสูงถึง 3.31 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ ปี 2533 เป็นต้นมา มีอำเภอที่ได้รับความเสียหายรวม 7 อำเภอ 45 ตำบล 363 หมู่บ้าน 3 เทศบาลตำบล 21 ชุมชน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 11,675 ครัวเรือน
พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 94,000 ไร่ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ส่วนปัญหาที่พบในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย คือ เรือไม่เพียงพอ และปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ในเรื่องของการระบายน้ำ