xs
xsm
sm
md
lg

วอลล์สตรีทเตรียมหันเหความสนใจออกจาก QE มุ่งสู่อัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        นักลงทุนในตลาดมุ่งความสนใจในปีนี้ไปยังประเด็นที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อใด อย่างไรก็ดี เมื่อนางเจเน็ต  เยลเลนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดในช่วงต้นปีหน้า นักลงทุนจำนวนมากก็เชื่อว่าประเด็นที่สำคัญสำหรับปี 2014 จะกลายเป็นประเด็น ที่ว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นเวลานานยิ่งขึ้น 
        แนวโน้มดังกล่าวหมายความว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยถึงแม้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต แต่ก็จะไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นมาแล้ว 1.00 % จากจุดต่ำสุดที่ทำไว้ในเดือนพ.ค. 
        อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภท 10 ปีดิ่งลงแตะ 1.624 %  ในวันที่ 2 พ.ค. ก่อนจะพุ่งขึ้นแตะ 2.996 % ในวันที่ 5 ก.ย. และอยู่ที่ 2.741 % เมื่อวานนี้ 
        นายเจค โลเวอรี จากบริษัทไอเอ็นจี ยู.เอส. อินเวสท์เมนท์  แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "เฟดภายใต้การบริหารของนางเจเน็ต เยลเลน  จะมีภาระผูกพันในการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในระดับต่ำมากเป็นเวลาต่อไปอีก 2-3 ปี" 
        นายโลเวอรีกล่าวว่า "ภาระผูกพันในการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่ากำหนดเวลาที่แน่นอนในการปรับลดขนาด QE" ทั้งนี้ เฟดดำเนิน QE ในปัจจุบันด้วยก้ารเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน 
        นางเจเน็ต เยลเลน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ ได้ให้การต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในเดือนนี้ โดยเขาได้กล่าวปกป้องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด และกล่าวว่าเฟดจำเป็นต้องกระตุ้นการจ้างงาน ขณะที่นาย เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนปัจจุบัน ได้กล่าวสนับสนุนเรื่องนี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเขากล่าวว่าหนทางที่จะนำไปสู่การปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต คือการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปัจจุบัน 
        นายยาน แฮทซิอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์  กล่าวว่า "คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC)  โดยเฉพาะ FOMC ที่มีนางเยลเลนเป็นผู้นำ จะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแก่ภารกิจของเฟดในด้านการจ้างงาน และจะต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่อัตราการว่างงานจะร่วงลงสู่ระดับที่เฟดต้องการ"  นอกจากนี้ นายแฮทซิอุสยังคาดว่า เฟดจะปรับลดเกณฑ์อัตราการว่างงานลงสู่ 6 % ในอนาคต จากระดับ 6.5 % ในปัจจุบัน  
        เฟดให้สัญญาว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0%  ต่อไป จนกว่าอัตราการว่างงานจะร่วงลงสู่ 6.5% และตราบใดที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ต่ำกว่า 2.5% โดยอัตราการว่างงานในสหรัฐอยู่ที่ 7.3% ในเดือนต.ค. 
        ถ้าหากเฟดทำตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ปี 2014  ก็จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งสำหรับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นปีที่ย่ำแย่สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยสูง 
        นายเอริค สไตน์ จากบริษัทอีตัน แวนซ์ อินเวสท์เมนท์  แมเนเจอร์ส กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่พอร์ทลงทุน ในตราสารหนี้จะให้อัตราผลตอบแทน 7-8 % ในขณะที่เฟดดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย 0 %" 
        จังค์บอนด์ หรือพันธบัตรขยะ เป็นตราสารหนี้เพียงกลุ่มเดียวที่ให้ผลกำไรที่ดีในปีนี้ ในขณะที่การลงทุนในหุ้นกู้เกรดน่าลงทุนนำไปสู่การขาดทุน และการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐส่วนใหญ่ก็ให้ผลขาดทุนเช่นกัน 
        การคาดการณ์ที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ ปัจจัยนี้ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นมักได้รับแรงหนุนจากข่าวร้ายในทางเศรษฐกิจด้วย เพราะข่าวร้ายดังกล่าวบ่งชี้ว่าเฟดจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นเวลานานยิ่งขึ้น 
        นายเจฟฟรีย์ โรเซนเบิร์ก หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนตราสารหนี้ของบริษัทแบล็คร็อค กล่าวว่า "เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะทำให้เฟดพิจารณาเรื่องการปรับลดขนาด QE และอ่อนแอเกินกว่าที่จะทำให้เฟดยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ย 0 %" 
        นายโรเบิร์ต ทิปป์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัท พรูเดนเชียล ฟิกซ์ อินคัม กล่าวว่า เทรดเดอร์และผู้จัดการการลงทุนบางรายมีความเชื่อที่ผิดพลาด 2 อย่าง และความเชื่อที่ผิดพลาดดังกล่าวส่งผลให้เทรดเดอร์กลุ่มนี้ไม่ได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน 
        นายทิปป์กล่าวว่า "ความผิดพลาดอย่างแรกก็คือว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ มองข้ามความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระบบการเงินโลก" 
        นายทิปป์กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และสิ่งนี้ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานานยิ่งขึ้นเช่นกัน 
        ทางด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจะขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป ถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะหนุนอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นสู่ 2 % 
        นายทิปป์กล่าวว่า ความผิดพลาดอย่างที่ 2 ก็คือ เทรดเดอร์กลุ่มนี้ไม่ได้เข้าใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกิน 
        ทั้งนี้ เฟดเคยส่งสัญญาณในช่วงกลางปีนี้ว่า เฟดอาจจะปรับลดขนาด QE ลงในเร็วๆนี้ และสัญญาณดังกล่าวก็ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรเผชิญกับแรงเทขายในช่วงกลางปี อย่างไรก็ดี เฟดตัดสินใจในเวลาต่อมาว่าเฟด จะยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตราเดิมต่อไป และการตัดสินใจดังกล่าว  ก็ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงลงอีกครั้ง ก่อนที่จะปรับขึ้น ในช่วงต่อมา 
        การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึง ปัญหานี้ปรากฏออกมาแล้ว โดยมีรายงานระบุว่ายอดขายบ้านมือสอง ในสหรัฐดิ่งลงในเดือนต.ค. 
        นายเจฟฟรีย์ ครอนธาล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเคแอลเอส ไดเวอร์ ซิฟายด์ แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "เฟดไม่น่าจะชื่นชอบเส้นอัตราผลตอบแทนที่ลาดชันมากแบบนี้ เพราะสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยจำนอง" 
        นักเศรษฐศาสตร์บางคนในเฟดระบุว่า เฟดอาจจะหันมาพึ่งพาการส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้น   โดยอาจใช้วิธีปรับเปลี่ยนเกณฑ์อัตราเงินเฟ้อและเกณฑ์อัตราการว่างงาน เพื่อส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป ถึงแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่การส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้า จะช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการปรับลดขนาด QE 
        นักเศรษฐศาสตร์ 3 คนของเฟดระบุในรายงานในช่วงต้นเดือนนี้ว่า  วิธีการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เฟด "แสดงถึงภาระผูกพันในการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการดำเนินนโยบายในแบบดั้งเดิม และด้วยเหตุนี้วิธีการนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น" 
        ผู้กำหนดนโยบายบางคนกังวลว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดกำลังส่งผลให้ราคาสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้นและสัดส่วนการใช้เงินกู้เพิ่มสูงขึ้น และสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมื่อเฟดปรับลดขนาด  QE 
        ธนาคารกลางเยอรมนีประกาศเตือนเมื่อเร็วๆนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สถิติต่ำสุดในยูโรโซนจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการเงิน ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่สถิติต่ำสุดต่อไปเป็นเวลานาน 
        นักยุทธศาสตร์การลงทุนบางรายมองว่า ผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงนี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและประเทศอื่นๆจะฟื้นตัวขึ้นในอนาคต และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2014 
        อย่างไรก็ดี นายแซค แพนเดิล นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัท โคลัมเบีย แมเนจเมนท์ กล่าวว่า ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในปี 2014 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภท 10 ปีก็แทบไม่มีโอกาสพุ่งขึ้น 1.00 % ได้อีกครั้ง หลังจากที่เคยดีดตัวขึ้นมาแล้วกว่า 1 % จากจุดต่ำสุดของปีนี้ 
        นายแพนเดิลกล่าวว่า "ตลาดได้ปรับฐานครั้งใหญ่ไปแล้ว" 
        ทางด้านนายเจฟฟรีย์ คลีฟแลนด์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า  "มีโอกาสที่ปี 2014 จะเป็นเหมือนกับปี 2013 ซึ่งได้แก่การที่เศรษฐกิจอาจเติบโตราว 2 % และหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
      
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President. RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น