xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นบวก 29 จุด คลายกังวล QE คาด GDP โต 4.5% รัฐบาลช้าฉุด ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 หุ้นบวก 29 จุด สถาบันผนึกพอร์ตโบรกฯ เข้าช้อน ส่วนต่างชาติทยอยเก็บอีก 500 ล้าน โบรกฯ ประเมินนักลงทุนคลายกังวล QE3 จับตาแบงก์ชาติปรับตัวเลขจีดีพี ด้าน “เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” คาด GDP ปีนี้โตเต็มที่ 4.5% เหตุนโยบายรัฐไม่ชัดเจน และล่าช้ากระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ คาดตลาดหุ้นไทยแผ่วทั้งปีไปต่อได้ไม่เกิน 1,550 จุด จากพิษ QE ที่ยังหลอนไม่เลิก ฟากกังวลสัญญาณอันตรายหลังเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ชะลอตัว

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ (18 ก.ค.) เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง โดยปิดที่ระดับ 1,487.19 จุด เพิ่มขึ้น 29.11 จุด หรือ 2.00% มูลค่าการซื้อขาย 57,165 ล้านบาท ภาพรวมปรับขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ตามความคาดหวังมาตรการ QE มีความชัดเจนที่จะยังคงต่อไป ซึ่งจะมีผลให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นกว่า 29 จุด พบว่า แรงซื้อส่วนมากมาจากกลุ่มสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยซื้อสุทธิ 1,349.03 ล้านบาท และ 1,143.15 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิอีก 584.75 ล้านบาท

นักวิเคราห์กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสาเหตุที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากมาจากการเข้าซื้อขายวันแรงของหุ้น บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ซึ่งปิดเทรดวันแรกที่ 16.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท เหนือจอง 23.08% มูลค่าซื้อขาย 5,068.29 ล้านบาทด้วย

“หุ้นไทยทางเทคนิคผ่าน 1,464 จุดได้ ตอนนี้กำลังทดสอบแนวต้าน 1,490 จุด เป็นแนวต้านสำคัญ แนวโน้มวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จับตา ธปท.ปรับตัวเลขจีดีพี และวันอาทิตย์ญี่ปุ่นเลือกตั้งสภาสูง หากพรรครัฐบาลได้เสียงข้างมากคาดออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปต่อ”

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเทศไทย หรือ MBKET กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ในอัตราการขยายตัวที่ 4.5%-5% ซึ่งลดลงจากปีก่อนอันเนื่องมาจากปัญหานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ แต่เชื่อว่าการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ของสหรัฐฯ อาจจะเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 12-18 เดือน จากที่คาดว่าจะเริ่มต้นลดมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในสิ้นปีนี้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งยังคงมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างชาติ ที่จะไหลออกต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะต่อประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ทุกประเทศทั่วโลกยังคงให้น้ำหนักกับบทบาทของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เป็นหลัก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังคงสร้างความผันผวนในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นทั่วโลก

“ขณะนี้มองว่า ทั้ง 2 ตลาดคือ ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร กำลังหาจุดสมดุลที่คุ้มค่าในการลงทุนอยู่ จึงทำให้ในไตรมาสที่ 3 ยังยากที่จะประเมินทิศทางได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัย 3 อย่างที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน แนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าอยู่ คงยังไม่มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศในขณะนี้ แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี จึงคงระดับดัชนีหุ้นไทยในครึ่งปีหลังไว้ที่ 1,250-1,550 จุด”

นายสุกกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ดีในตอนนี้ ยังไม่ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติม แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลควรที่จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานการเงินกลับมา เพราะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาวต่อเนื่อง 7 ปี โดยเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มาก และจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ GDP เติบโตขึ้นได้เกินกว่า 4-5%

ส่วนการทบทวนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระดับ 25% และกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 20% แต่จะมีการปรับลดลงบ้างตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเบื้องต้นประเมินว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี เนื่องจากมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอการส่งมอบที่อยู่อาศัย กลุ่มธนาคาร จากความเสี่ยงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายลดลงจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.4 ล้านคัน จะเหลือเพียง 1.2 ล้านคัน

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก : โอกาสและความท้าทายในการลงทุน” ว่า ธปท. มองว่าจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตยูโรโซน  วิกฤตสหรัฐฯ  และวิกฤตในประเทศญี่ปุ่น เพราะถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจใน 3 โซนของโลก  

ลำดับต่อมาคือ การฟื้นตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการยุติมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ  QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ต้นทุนทางการค้าในทุกประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น  

และประเด็นสุดท้ายคือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่เป็นฟันเฟืองสำคัญคือ ประเทศจีนในการพัฒนาประเทศ และการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจากการคาดการณ์กันว่าจะเติบโต และเป็นแกนนำใหม่แทนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงต่ำกว่าประมาณการไว้ การทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงตามไปด้วย  ทำให้มองว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เป็นสัญญาณอันตรายที่สุด เพราะโอกาสในการฟื้นตัวจะช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมากนัก
       
กำลังโหลดความคิดเห็น