xs
xsm
sm
md
lg

“ยรรยง” แนะรัฐวางระบบกลยุทธ์เศรษฐกิจใหม่ เหตุ QE ทำเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ชี้จุดเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกจาก 3 ประเด็นหลักคือ ความเสี่ยงในประเทศที่เจริญแล้ว การฟื้นตัวของอเมริกาล่าช้าดันประเทศใหม่ที่กำลังพัฒนาโตช้าลง แนะรัฐบาลปรับกลยุทธ์การบริหารให้ความสำคัญการพัฒนาความแตกต่าง เพื่อดึงนักลงทุน ตปท. กลับมาเหมือนเดิม

นายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก : โอกาสและความท้าทายในการลงทุน” ว่า ธปท. มองว่าจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตยูโรโซน  วิกฤตสหรัฐฯ  และวิกฤตในประเทศญี่ปุ่น เพราะถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจใน 3 โซนของโลก  

ลำดับต่อมาคือ การฟื้นตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการยุติมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ  QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ต้นทุนทางการค้าในทุกประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น  

และประเด็นสุดท้ายคือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่เป็นฟันเฟืองสำคัญคือ ประเทศจีนในการพัฒนาประเทศ และการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจากการคาดการณ์กันว่าจะเติบโต และเป็นแกนนำใหม่แทนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ การทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงตามไปด้วย  ซึ่งมองว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เป็นสัญญาณอันตรายที่สุด เพราะโอกาสในการฟื้นตัวจะช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมากนัก

อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้วางกฎระเบียบ และเครื่องมือในกรอบการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมากที่สุด และเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งเป้าหมายของ ธปท.ที่จะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจในระยะสั้นก่อน เพราะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกอยู่ โดยปัจจัยหลักที่สำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจ คือ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของ 3 กลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีภาพของการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ส่งสัญญาณในการปรับลดมาตรการ QE ลง อาจทำให้การเงินในระบบทั่วโลกจะเกิดภาวะผันผวน โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่จะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สอดคล้องกับภาวะเงินทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลอาจจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการส่งเสริมการดูแลเศรษฐกิจที่มีความแตกต่าง เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาลงทุนในประเทศไทยเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น