xs
xsm
sm
md
lg

“ตลาดเงิน-ตลาดทุน” คาดหวังลงทุนภาครัฐ กระตุ้นจีดีพี กังวลไตมาส 3 หุ้นต้องฝ่ามรสุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตลาดเงิน-ตลาดทุน” คาดหวังการลงทุนภาครัฐกระตุ้นจีดีพี ปี 57 เติบโตได้เกิน 5% ประเมินแรงส่งครึ่งหลังปี 56 ยังเจอความท้าทาย นักลงทุนรอดูกำไร บจ. ไตรมาส 3 อาจแผ่วตามเป้า ศก.ไทย ขณะที่ ศก.โลกฟื้นตัวไม่เต็มที่ ศก.ประเทศกำลังพัฒนากลับชะลอตัว “เมย์แบงก์” มองเป้าดัชนีปลายปีอยู่ที่ 1,550 จุด กำไร บจ. เติบโต 20%

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ( ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนา “จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก : โอกาสและความท้าทายในการลงทุน” โดยระบุว่า ทิศทางในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ตลาดหุ้นยังมีความผันผวน เนื่องจากตลาดหุ้นรอความชัดเจนเรื่องกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะลดลง หลังจากหลายหน่วยงานปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตประมาณร้อยละ 20 ส่วนดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,550 จุด

ส่วนทิศทางไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากหลายปัจจัยจะมีความชัดเจนขึ้น ภาพการลงทุนจะเน้นปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก โดยให้ติดตามโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะส่งผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2557

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการให้จีดีพีขยายตัวได้เกินร้อยละ 5 รัฐบาลจะต้องมีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ควรกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นมากเกินไป และยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่ เพราะทั้งนโยบายรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรกเพิ่งหมดไป ขณะที่การบริโภคก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับต่ำจนเกินไป

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง ส่งผลให้ทั้งปีจะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 5 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพราะความผันผวนที่เกิดจากการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนยังมีอยู่สูง ขณะที่การลงทุนโดยตรงของภาคเอกชน จะชะลอลงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่แผ่วลงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอลง แต่รัฐบาลยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หากรัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากกว่า

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยง 3 ด้าน คือ ภาวะเงินท่วมโลกหมดลง หลังจากเฟดลดและถอนมาตรการคิวอี เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัว แม้จะดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัว

ดังนั้น การดำเนินนโนบายการเงินจะเน้นการรักษาเสถียรภาพเป็นหลัก ซึ่งเครื่องมือทางการเงินที่ ธปท.มีอยู่ถือว่าเพียงพอ แต่ในระยะต่อไป รัฐบาลจะต้องเน้นสร้างความแตกต่าง ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น