"อังค์ถัด" คาดปี 56 มีเงินลงทุนทั่วโลก 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากความเชื่อมั่นเพิ่มอาจเพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เผยกลุ่มอาเซียนการลงทุนโต "กัมพูชา เวียดนาม พม่า" กำลังเนื้อหอม ขณะที่ญี่ปุ่น เทเงินลงทุนไทยมากสุด 10.6%
นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ITD เปิดเผยรายงานการลงทุนประจำปี 2556 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด พบว่าแนวโน้มกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ของโลกในปีนี้ จะมีปริมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากปี 2555 ที่อยู่ 1.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2554 ประมาณร้อยละ 18
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2555 กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถดึงดูดการลงทุนได้ถึงร้อยละ 52 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เงินลงทุนมากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าเทียบกับปี 2554 เงินลงทุน FDI ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงร้อยละ 4 แต่ยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ลดลงถึงร้อยละ 32 เนื่องจากเศรษฐกิจในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นมีปัญหาวิกฤต
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าแม้ว่าภูมิภาคต่างๆ ในโลกจะมีเงินลงทุน FDI ปรับลดลง แต่ในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยประเทศที่เป็นจุดสนใจของนักลงทุนต่างชาติ คือ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยเฉพาะพม่าที่มีการปฏิรูปประเทศ และกฎหมายการลงทุน จึงสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ และทั้ง 3 ประเทศดึงดูดนักลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือ เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูก
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่นักลงทุนไทยก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในประเทศอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น อาหาร เกษตร และสิ่งทอ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากทั่วโลกมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 2557 จะมีการลงทุน FDI เป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ต้องระวังความอ่อนแอของโครงสร้างระบบการเงิน โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวอีก และความไม่แน่นอนในนโยบายสำคัญที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ที่อาจจะทำให้เงินลงทุนโดยตรงถดถอยลงไปอีก
นอกจากนี้ ทางอังค์ถัดยังเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับปรุง ศักยภาพของแรงงาน เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จากปัจจุบันที่ประเทศกำลังพัฒนาได้มูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่รับจ้างผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วในอัตราที่ต่ำ เพื่อยกระดับให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าสูงขึ้น
“การที่ประเทศพัฒนาแล้วมาลงทุนโรงงานผลิตสินค้าในประเทศที่ด้อยกว่า ก็มีข้อดีคือ ทำให้เกิดการจ้างงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมถึงมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี แต่ก็มีข้อเสีย คือประเทศรับจ้างผลิตจะได้มูลค่าเพิ่มของสินค้าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าของทุน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา ต้องยกระดับสมรรถนะในการผลิตของกิจการในประเทศ และพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าการผลิต” นายวัชรัศมิ์ กล่าว