xs
xsm
sm
md
lg

มาดูกัน ลงทุนอะไรกำไรแจ่มสุด (ชมกราฟิก)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ
นักวิเคราะห์ข้อมูล บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช (ประเทศไทย)

ดูเหมือนช่วงเวลาแห่งความสุข (Honeymoon period) ในการลงทุนได้ผ่านไปอย่างรวดเร็วทันทีที่จบไตรมาสแรกของปี บรรยากาศการลงทุนเริ่มผันผวนและร้อนแรงมากขึ้นตามอากาศที่ร้อนสลับกับฝนที่ตกตลอดช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา สินทรัพย์ทุกประเภท หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ น้ำมัน ทั้งนอกและในประเทศได้รับผลกระทบอย่างมากจากความกังวลที่เกิดขึ้นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีต่อมาตรการ QE การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่คาดว่าน่าจะลดลง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัญหาโครงการลงทุนต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจะยังวนเวียนต่อไปตลอดทั้งปีนี้

หุ้น

นำโด่งมาเลยครับสำหรับดัชนี Nikkei 225 ที่ทำผลตอบแทนได้ถึง 31.57% ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งบางช่วงเวลาให้ผลตอบแทนสูงกว่า 50% ตามมาแบบห่างๆ ก็คือ ดัชนี Dow Jones NASDAQ และ S&P 500 ที่ 13.78% 12.71% และ 12.63% ตามลำดับ ส่วนดัชนีสำคัญๆ ในยุโรปต่างก็ให้ผลตอบแทนที่พอใช้ได้ที่ประมาณ 5-6% ส่วนที่ประสบปัญหาอย่างมากเห็นจะเป็นดัชนี CSI 300 และ Hang Seng ที่ติดลบอย่างมาก -12.78% และ -8.18% ตามลำดับจากความกังวลที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่คาดว่าน่าจะลดลง ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มอาเซียน ทั้งอินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเรานั้น ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างประเทศกดดันให้ผลตอบแทนที่เคยทำได้ดีในช่วงไตรมาสแรกของปีปรับลดลงมามากพอสมควร แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ที่ 11.63% 11.23% และ 4.31% ตามลำดับ

ตราสารหนี้

ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีต่อมาตราการ QE ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผลตอบแทนในพันธบัตรทั่วโลกทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตราสารในตลาดเกิดใหม่ โดยอ้างอิงดัชนี Barclays Global Aggregate ติดลบถึง -4.83% และดัชนี JPMorgan Emerging Market Bond -8.22% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าสูงมากในทรัพย์สินประเภทตราสารหนี้ ส่วนตราสารหนี้ในประเทศได้รับผลกระทบไม่มากนักและดูเหมือนว่าตราสารหนี้ระยะสั้นจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ระยะยาว โดยตั๋วเงินคลังระยะเวลา 91 วัน (ThaiBMA 91 day T-bill) มีผลตอบแทนอยู่ที่ 1.41% ขณะที่ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government bond) ให้ผลตอบแทนเพียง 0.18%

ทองคำ, น้ำมัน

ต้องบอกว่าเป็นปีที่ยากลำบากปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการลงทุนในทองคำเนื่องจากผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีติดลบสูงถึง -27.69% (London Fix Gold AM) อีกทั้งความผันผวนในอนาคตที่ก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน ทั้งเรื่องมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งกลับกันกับน้ำมันที่ทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจอยู่ที่ 4.93% (WTexas Crude Oil)

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

ต้องบอกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องครับสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมของประเทศไทยโดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2556 มีมูลค่ากว่า 2.78 ล้านล้านบาท หรือโตกว่า 6.38% ตั้งแต่ต้นปี กองทุนที่มีส่วนช่วยดันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมให้โตเป็นอย่างมากก็คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกที่เพิ่งจดทะเบียนไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และที่ตามมาคงหนีไม่พ้น Trigger Fund ที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเปิดไปแล้วกว่า 70 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 55,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 90% มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย กองทุนอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นประวัติการณ์คือ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย (Equity Fund) ซึ่งมีกองทุนที่เปิดใหม่อยู่หลายกองทุน อีกทั้งมีเงินไหลเข้ากองทุนประเภทนี้รวมกว่า 44,000 ล้านบาท

ในส่วนของ Fund Flow ของกองทุน LTF และ RMF นั้นมีปริมาณเงินไหลออกสุทธิรวมกันเพียงประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่มาก โดยแบ่งเป็นเงินไหลออกสุทธิของกองทุน LTF ประมาณ 8,200 ล้านบาท ขณะที่กองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 5,400 ล้านบาท ข้อสังเกตคือเงินที่ไหลเข้าจำนวนมากนี้มาจากช่วงไตรมาสสองที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงค่อนข้างมากทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภท แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงรอจังหวะลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่สำคัญคือการปรับปรุงหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ โดยทาง ก.ล.ต.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าวในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญอยู่ที่การปรับปรุงเนื้อหาในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้มีความกระชับและชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อความสะดวกต่อนักลงทุนในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่สำคัญของกองทุนนั้นๆ โดยหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญแบบใหม่นี้จะมีขนาดเพียงไม่เกิน 4 หน้าเท่านั้น

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจะลดลงไปกว่าครึ่งจากสิ้นไตรมาสแรก แต่ก็ต้องยอมว่ากองทุนหุ้นที่ลงทุนในไทยทั้ง 2 กลุ่มยังคงทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นอย่างดีและดีกว่าทุกกลุ่ม โดยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) และกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 8.49% และ 8.28% ตามลำดับ ขณะที่กองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศผลตอบแทนแตกต่างกันไป โดยกลุ่ม Global Equity เฉลี่ยบวก 6.64% ซึ่งส่วนใหญ่เน้นลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity นั้นเฉลี่ยทำได้ไม่ดีเท่าไรผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย -8.83% รวมทั้งกลุ่ม Emerging Market Equity ที่ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย -4.47%

ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ก็ได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อมาตราการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างมากเช่นกัน ส่งผลให้กลุ่ม Global Bond และกลุ่ม Emerging Market Bond มีผลตอบแทนติดลบไปตามๆ กันที่ -1.61% และ -4.98% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ในประเทศทำผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1% ส่วนที่หนักที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นกลุ่มกองทุนทองคำ โดยมีผลตอบแทนติดลบสูงถึง -26.48% ซึ่งก็สอดคล้องกับราคาทองคำในตลาดโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น