xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย ผ่านกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “ชวนคนไทย ใช้กองทุนรวม”
โดย บลจ.ทิสโก้
www.tiscoasset.com
โทร. 0-2633-6000 กด 4

เชื่อว่านักลงทุนคงคุ้นเคยกันดีกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อเป็นช่องทางในการออมและลดหย่อนภาษี อย่างการลงทุนในรูปแบบของกองทุน LTF หรือ RMF รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมประเภทพันธบัตรระยะสั้น (Money Market Fund) หรือการลงทุนในตราสารหนี้แบบมีระยะเวลา (Term Fund) ก็เป็นรูปแบบการลงทุนที่ทุกท่านคงคุ้นเคยกัน เพื่อเป็นการพักเงินในช่วงสั้น มีสภาพคล่องและมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน แต่ด้วยภาวะปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารในโลกเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสการลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น การที่เรามีการกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศก็เป็นอีกหนทางที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุน และเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตมักจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเข้าลงทุนเสมอ อย่างตลาดหุ้นของสหรัฐฯ หลังวิกฤต Subprime ตั้งแต่ปี 2009 ก็มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปรับตัวขึ้นกว่า 140% หรือตลาดหุ้นนิกเกอิที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมากในปีนี้

ทั้งนี้นักลงทุนหลายคนไม่อยากที่จะกระจายการลงทุนไปตลาดต่างประเทศ เพราะคิดว่ายุ่งยาก หาข้อมูลลำบาก ไม่รู้จักบริษัทในต่างประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก และไม่มีเวลามาติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด แต่แท้จริงแล้วหากนักลงทุนต้องการที่จะลงทุนในตลาดต่างประเทศก็สามารถทำได้ และไม่ได้ยากอย่างที่คิด เนื่องจากท่านสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และปัจจุบันกองทุน FIF ในตลาดก็มีให้เลือกลงทุนได้หลากหลาย ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ, จีน, เอเชียแปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น, ละตินอเมริกา, กลุ่ม BRIC (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน) ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทอง หรือน้ำมันที่มีการซื้อขายในตลาดต่างประเทศ โดยในการลงทุนก็ใช้เงินขั้นต่ำจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะกำหนดเงินขั้นต่ำในการลงทุนเพียง 5,000 บาท เท่านั้น

แม้กองทุน FIF จะใช้เป็นช่องทางทำให้การลงทุนในตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่าย แต่สิ่งสำคัญก่อนการเลือกลงทุนคือ เราจะต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนเสมอ ซึ่งถ้าเป็นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ สิ่งที่ควรจะเน้นหนักในการวิเคราะห์อาจจะดูที่ภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก เพราะกองทุน FIF ส่วนใหญ่ที่ออกมาในตลาด จะเป็นลักษณะ Passive Fund เน้นการ Tracking Index เป็นหลัก และเป็นการไปซื้อ ETF (Exchange Traded Fund) ของกองทุนในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราวิเคราะห์แล้วว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในขาของการฟื้นตัว ตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตก็ย่อมส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย ดังนั้นถ้านักลงทุนเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็สามารถทำได้ โดยอาจจะไปซื้อกองทุนรวมที่มีการลงทุนโดยผลตอบแทนมีลักษณะล้อกับดัชนี S&P 500 ซึ่งข้อดีของการลงทุนแบบล้อตามดัชนีคือเราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์หุ้นรายตัวแบบเจาะลึก เพราะการที่เราไม่ได้เข้าถึงหรือเข้าใจการทำธุรกิจของบริษัทอย่างลึกซึ้ง การลงทุนโดยเลือกซื้อหุ้นเพียงบางตัวย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนกระจายน้ำหนักตามดัชนีตลาด

สำหรับลักษณะการลงทุนของกอง FIF อาจจะทำในรูปแบบ Feeder Fund หรือ Fund of Fund ซึ่งก็คือ การที่ บลจ.ในไทยนำเงินไปลงทุนต่อในกองทุนรวมที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนต่างประเทศโดยผ่านการซื้อ ETF ซึ่งก็คือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งนี้ หากมีการซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายกองเราจะเรียกกองทุนดังกล่าวว่าเป็น Fund of Fund แต่หากมีการลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพียงแค่กองทุนเดียวเราจะเรียกกองทุนดังกล่าวว่าเป็น Feeder Fund ดังนั้น ก่อนการลงทุนควรเข้าไปศึกษาข้อมูลของกองทุนหลักต่างประเทศก็จะทำให้เข้าใจกองทุนที่เราจะไปลงทุนมากขึ้นว่ามีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร ผลการดำเนินงานในอดีตเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น กอง SPDR Trust, Series 1 จะเป็นกองทุน ETF ที่มีนโยบายหลัก คือ สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ซึ่งเน้นการบริหารแบบ Passive บริหารจัดการโดย State Street Global Advisors ในส่วนของผลการดำเนินงานย้อนหลังสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ ความสามารถของกองทุนในการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับเกณฑ์อ้างอิง (Tracking error) ซึ่งถ้าผลต่างของผลตอบแทนยิ่งห่างจากเกณฑ์อ้างอิงน้อยแสดงว่ากองทุนดังกล่าวมีการบริหารกองทุนได้ดี ทั้งนี้ การดูเฉพาะข้อมูล Tracking error ไม่ได้บอกว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต เพียงแต่บอกว่ากองทุนสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับตลาดหรือดัชนีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการลงทุนในตลาดต่างประเทศคือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เราจะไปลงทุนอยู่ในช่วงของการเติบโต และระดับราคาของหุ้นในตลาดเมื่อเทียบกับการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดอยู่ในภาวะน่าลงทุนหรือไม่

นอกจากเรื่องของภาวะตลาด ค่าเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนควรจะพิจารณาในการลงทุนด้วย ซึ่งตามปกติทาง บลจ.จะมีการชี้แจงในส่วนสรุปการลงทุนว่ากองทุนดังกล่าวมีการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินหรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนด้วย โดยเฉพาะในยามที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่านักลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เนื่องจากการลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่ไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงมีโอกาสที่ผลการดำเนินงานจะลดลงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้

จะเห็นได้ว่าช่องทางการกระจายการลงทุนไปตลาดต่างประเทศทำได้ไม่ยากผ่านกองทุนรวม นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของพอร์ตการลงทุนผ่านการกระจายการลงทุนในหลายๆ ตลาด แต่สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุนคือ เราต้องเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะลงทุน ต้องรู้ถึงความเสี่ยงในตลาดที่เรากำลังจะลงทุน การหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนจะช่วยลดความผิดพลาด และควรเน้นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น