xs
xsm
sm
md
lg

CPF ตั้งเป้ารายได้ปีหน้า 4.6 แสนล้าน จ่อสรุปซื้อ รง.อาหารในเบลเยียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดิเรก ศรีประทักษ์
ASTVผู้จัดการรายวัน - ซีพีเอฟตั้งเป้ารายได้ปีหน้าโต 15% อยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท หลังจากปีนี้รายได้ต่ำกว่าเป้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากธุรกิจกุ้ง เผย 3 ปีข้างหน้าอัดงบลงทุน 5 หมื่นล้านบาทเน้นตลาดต่างประเทศ โดยต้นปีนี้สรุปซื้อกิจการโรงงานอาหารในเบลเยียม ทำตลาดสินค้าแบรนด์ CP เจาะตลาดยุโรป

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่ามีรายได้รวม 3.9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเพียง 10% จากเดิมที่ตั้งไว้โต 15% เนื่องจากผลกระทบจากโรคตายด่วน (EMS) ในกุ้ง แต่ปี 2557 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท โตขึ้นจากปีนี้ 15% เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และปัญหาโรคกุ้งได้รับการแก้ไข

ส่วนแผนการลงทุนใน 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) บริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นการลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60% ของเงินลงทุน เน้นขยายการลงทุนไปยังประเทศที่บริษัทฯ ได้มีการลงทุนเดิมอยู่แล้วทั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เป็นต้น ส่วนที่เหลือใช้ลงทุนในไทย ซึ่งจะเน้นลงทุนด้านแบรนด์สินค้า และเพิ่มช่องทางการจำหน่าย อาทิ ซีพี เฟรชมาร์ท

โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและบางส่วนจะกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาการชุมนุมทางการเมืองไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องบริโภค ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศทั้ง 12 ประเทศจะครอบคลุมประชากรสูงถึง 3 พันล้านคน บริษัทมองอนาคตตรงนี้มากกว่า

นายอดิเรกกล่าวถึงความคืบหน้าการซื้อกิจการโรงงานผลิตอาหารในเบลเยียมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะ (due diligence) ใกล้สรุปแล้ว เชื่อว่าในต้นปี 2557 ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งมูลค่าการซื้อกิจการไม่สูงเพราะขนาดกิจการไม่ใหญ่มาก

นายวิทวัส ตันติเวสส รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านการตลาดกลาง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) กล่าวว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์การรุกธุรกิจในต่างประเทศ จะเน้นซื้อกิจการโรงงานขนาดเล็กมากกว่าซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีข้อจำกัดด้านดิสทริบิวชัน เพื่อการกระจายสินค้าไปยังลูกค้า โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการซื้อกิจการโรงงานผลิตอาหารแช่เข็งในเบลเยียมเพื่อป้อนตลาดในเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ เป็นต้น

การตัดสินใจซื้อกิจการโรงงานอาหารในอียูนั้นเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิตและการขนส่งสินค้าจากไทยหรือเอเชีย และเน้นซื้อกิจการที่มีเทคโนโลยีที่ดีด้วย โดยการทำตลาดในต่างประเทศจะใช้แบรนด์ CP

นายวิทวัสกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ธุรกิจอาหาร (FOOD) ของบริษัทฯ มีสัดส่วนเพียง 12% ของรายได้รวม 3.9 แสนล้านบาท คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าธุรกิจอาหารจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของรายได้รวม 7 แสนล้านบาท โดยปีนี้ธุรกิจอาหารในประเทศไทยขยายตัว 20% จากปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำตลาดสินค้าอาหารสด อาหารแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทานมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดสินค้าไส้กรอกมากกว่า 50% โดยยอมรับว่ามาร์จิ้นธุรกิจอาหารสดไม่สูงมาก แต่ถ้ามีการเพิ่มมูลค่าโดยนำมาแปรรูปเป็นสินค้าพร้อมรับประทานจะมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น