xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” สั่งทำแผนแม่บทคาร์โก้สุวรรณภูมิ จ่อลงทุนเองลดต้นทุนลอจิสติกส์ภาคส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” สั่ง ทอท.วางแผนพัฒนาและขยายคาร์โก้สุวรรณภูมิเต็มพื้นที่ 3 ล้านตันต่อปี คาดไม่เกินปี 60 เต็มเฟสแรก 1.7 ล้านตันต่อปี แต่ยังไม่สรุปต่อสัมปทาน 2 รายเดิมคือการบินไทย และ WFSPG cargo หรือเปิดประมูลใหม่ เผยนโยบายต้องการลดต้นทุนลอจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดแข่งขันภาคการส่งออกไทย ยอมรับให้สัมปทานเอกชนต้องเก็บค่าบริการสูงดับฝันไทยฮับขนส่งสินค้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศ : กรณีศึกษาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า ได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ไปเร่งจัดทำแผนแม่บท (MasterPlan) ในการพัฒนาเพื่อขยายและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการภายในคลังสินค้า (คาร์โก้) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในส่วนเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) พื้นที่อาคารเก็บสินค้า (Warehouse) และการเชื่อมโยงระบบข้อมูลภายในเพื่อให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวมากที่สุด

ทั้งนี้ ข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ ระบุว่า คาร์โก้สนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหาในการให้บริการมาตั้งแต่เปิดให้บริการวันที่ 28 กันยายน 2549 เช่น ปัญหาระบบการบริหารจัดการ ความล้าหลังของกฎหมาย ระเบียบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการ ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้องเรียนว่ามีการจัดเก็บค่าบริการ ค่าเช่าพื้นที่สูง เช่น
ค่าเช่าพื้นที่เก็บสินค้าในการเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added Area) จัดเก็บ 270 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งช่วงเปิดให้บริการในปี 2549 มีผู้จองพื้นที่เต็มจำนวน แต่ในเดือนสิงหาคม 2555 เหลือผู้ประกอบการเช่าเพียง 50% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือน และจ่ายค่าบริการให้แก่บริษัท UAS ผู้รับงานบริหารเขตฟรีโซนด้วย ขณะที่ระบบควบคุมการขนส่ง (ACCS : Air Cargo Community
System) ยังไม่สามารถพัฒนาให้ใช้งานได้ ทำให้การบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีปริมาณสินค้าผ่านคาร์โก้สนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24 % ของการนำเข้า ส่งออกทั้งหมดของประเทศ ส่วนอีก 52% จะผ่านท่าเรือ ในขณะที่ขีดความสามารถคาร์โก้รองรับได้ประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเต็มขีดรองรับในปี 2560 ดังนั้น ภายในปีนี้ ทอท.จะต้องจัดทำแผนแม่บทเพื่อขยายคาร๋โก้ให้เต็มพื้นที่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเพิ่มเป็น 2.4 ล้านตันต่อปี โดยจะใช้เวลาพัฒนา 2-3 ปี และระยะต่อไปพัฒนาเต็มพื้นที่ 3 ล้านตันต่อปี ส่วนจะให้ผู้ประกอบการซึ่งรับสัมปทานเดิมคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ WFSPG cargo ดำเนินการ หรือ ทอท.จะลงทุนเอง ต้องพิจารณาในเรื่องต้นทุนและการควบคุมค่าบริการรวมถึงกรณีเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ด้วย โดยให้นโยบาย ทอท.ว่าไม่ควรจัดเก็บค่าใช้บริการต่างๆ ในเขตปลอดภาษีสูงเกินไป เพราะจะทำให้ต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของผู้นำเข้า ส่งออก สูงไปด้วย ทอท.ควรช่วยแบ่งเบาภาระเพื่อสนับสนุนภาคการส่งออกของประเทศ

“ผมเห็นว่าค่าบริการที่เรียกเก็บในคลังสินค้าไม่ใช่รายได้หรือตัวทำกำไรให้ ทอท. เพราะ ทอท.มีรายได้หรือผลประโยชน์จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร ค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงอากาศยาน รวมทั้งรายได้เชิงพาณิชย์ต่างๆ มากพออยู่แล้ว ดังนั้นประเด็นหลักที่ต้องเร่งปรับปรุงคือ การบริหารจัดการภายใน โดยการจัดเก็บภาษีภายในพื้นที่ฟรีโซน
ต้องเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทางศุลกากรและสรรพากรจะปรับปรุงระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภายใน (ACCS) ทอท.จะเร่งพัฒนาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะจัดการรวมศูนย์การตรวจปล่อยสินค้าให้เป็น One Stop Service เป็นต้น” นายชัชชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น