xs
xsm
sm
md
lg

"วิตอล"บริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่คาดราคาน้ำมันอาจดิ่งลง 15 ดอลล์/บาร์เรล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        นายเอียน เทย์เลอร์ ซีอีโอของบริษัทวิตอลของสวิตเซอร์แลนด์   ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ราคาน้ำมันอาจดิ่งลง 15 ดอลลาร์/บาร์เรล ถ้าหากบางประเทศ เช่น ลิเบีย ฟื้นฟูการผลิตน้ำมัน และมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้โครงการน้ำมันบางแห่งในสหรัฐที่ใช้เงินทุนดำเนินงานจำนวนมากต้องระงับการดำเนินงาน
        นายเทย์เลอร์คาดว่า โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในยุโรปจะปิดทำการในช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากเผชิญกับการแข่งขันอย่างยากลำบากกับโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลางและเอเชีย
        สหรัฐจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกในปีหน้า   โดยก้าวขึ้นมาครองอันดับ 1 แทนที่รัสเซีย หลังจากปริมาณการผลิตน้ำมันที่พุ่งขึ้นในสหรัฐมีส่วนช่วยชดเชยอุปทานน้ำมันจำนวนมากที่ขาดหายไปจากลิเบีย, อิรัก, อิหร่าน และไนจีเรียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า ถ้าหากปัญหาด้านอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไข ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของยุโรปก็อาจดิ่งลงสู่ 90-95 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับราว 105 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสอินเทอร์มีเดียท (WTI) ของสหรัฐอาจรูดลงสู่ 80-85 ดอลลาร์ จาก 95 ดอลลาร์ในปัจจุบัน
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "เมื่อถึงเวลานั้น ผมก็คิดว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะเริ่มกังวล" 
        บริษัทวิตอลได้ก้าวเข้ามาลงทุนในธุรกิจกลั่นน้ำมันในยุโรปในปีที่แล้ว และนายเทย์เลอร์กล่าวว่า วิตอลอาจพิจารณาโอกาสใหม่ๆในอนาคต  อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าภาคกลั่นน้ำมันในยุโรปอาจต้องหดตัวลงในอนาคต  เนื่องจากการกลั่นน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันให้อัตราผลกำไรที่ต่ำมาก
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "สถานการณ์เลวร้ายมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และผมก็เชื่อว่าธุรกิจกลั่นน้ำมันในยุโรปหลายแห่งอาจจำเป็นต้องปิดกิจการในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า"
        นายเทย์เลอร์คาดว่า กำลังการกลั่นน้ำมันในยุโรปอาจลดลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 10 % ของกำลังการกลั่นน้ำมันในยุโรปในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันที่ล้าสมัยบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "ผมคิดว่าคุณจะเห็นความขัดแย้งอยางต่อเนื่องระหว่างบริษัทยุโรปขนาดใหญ่และนักการเมืองในประเด็นนี้ และผมก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผมรู้ว่าอังกฤษไม่จำเป็นต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน  7-8 แห่ง"
        นายเทย์เลอร์กล่าวเสริมว่า วิตอลอาจจะซื้อโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มอีก
        ทั้งนี้ บริษัทวิตอลและบริษัทคู่แข่งอย่างเช่นเกลนคอร์และกันวอร์ พยายามเพิ่มวอลุ่มการค้าน้ำมันให้สูงขึ้นในช่วงไมกี่ปีที่ผ่านมา เพื่อชดเชยประสิทธิภาพในการทำกำไรที่ลดลง ในขณะที่ความผันผวนในตลาดลดลง
        นายเทย์เลอร์คาดว่า การค้าน้ำมันจะยังคงอยู่ในภาวะยากลำบาก ขณะที่เทรดเดอร์จำเป็นต้องแข่งขันกับคู่แข่งกลุ่มเดิมซึ่งได้แก่บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ และกับคู่แข่งกลุ่มใหม่ ซึ่งได้แก่บริษัทน้ำมันของรัฐบาลประเทศต่างๆที่พยายาม หนุนผลกำไรจากการค้าน้ำมันให้สูงขึ้น
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "ผมคาดว่าสถานการณ์จะยากลำบากมาก ผมคาดว่าบริษัทเทรดดิงจะยังคงเลือกซื้อสินทรัพย์ต่อไปเพื่อพยายามเพิ่มประสิทธิภาพให้มากที่สุด แต่วอลุ่มการค้าน้ำมันของบริษัทประเภทเทรดดิงเฮาส์อาจลดลงเล็กน้อย  แทนที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะอุปสงค์น้ำมันจะไม่ปรับขึ้นมากนัก"
        นายเทย์เลอร์คาดว่า ถ้าหากราคาน้ำมันไม่ได้ดิ่งลงอย่างรุนแรง ก็มีโอกาสที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะกลายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคคมนาคม ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ในสหรัฐและจีนกำลังหันมาใช้ก๊าซมากยิ่งขึ้น
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "ปัญหามลพิษในจีนเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ดังนั้น จีนจะหันมาใช้ก๊าซในการคมนาคมและในการผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ว่าราคาก๊าซจะสูงเพียงใดก็ตาม"
        ความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง โดยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกกว่าก๊าซ แต่ยังคงถือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้กันมากที่สุดในโลก
        ปัจจุบันนี้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ค่อยให้ผลกำไรมากนักสำหรับการนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ภาวะเฟื่องฟูด้านการขุดเจาะน้ำมันจากหินดินดาน (shale gas) ในสหรัฐส่งผลให้ราคาก๊าซในสหรัฐดิ่งลงอย่างรุนแรง โดยเป็นที่คาดกันว่าสหรัฐจะเริ่มต้นส่งออก LNG ภายในปี 2015 และอาจส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปและเอเชียร่วงลงมาด้วย
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า วิตอลไม่มีแนวโน้มที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในธุรกิจ LNG แต่อาจลงทุนในสถานีขนส่ง LNG ลอยน้ำขนาดเล็ก
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า ในส่วนของภูมิภาคอเมริกาเหนือนั้น วิตอลได้ลงทุนในท่อส่งน้ำมันและคลังเก็บน้ำมันในแอ่งเพอร์เมียนของรัฐเท็กซัส แต่จุดสนใจของวิตอลมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นการขนส่งน้ำมันทางทะเล มากกว่าจะเป็น การแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันและบริษัทผู้ผลิตน้ำมันบนบก
        มีข่าวว่าโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวันของบริษัทฟิลาเดลเฟีย เอ็นเนอร์จี โซลูชันส์กำลังจะใช้น้ำมันราว 20 % ที่ผลิตจากแหล่งหินน้ำมันแบคเคนในรัฐนอร์ธ ดาโกตา ขณะที่นายเทย์เลอร์กล่าวว่าข่าวนี้อาจเปิดโอกาสในการหาตลาดใหม่ให้แก่น้ำมันดิบจากต่างประเทศที่สหรัฐไม่ต้องการนำเข้าอีกต่อไป
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า "ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่โรงกลั่นน้ำมันใน ฟิลาเดลเฟียกำลังจะซื้อน้ำมันดิบจำนวนมากทางรถไฟ หลังจากที่โรงกลั่นดังกล่าวเคยเป็นหนึ่งในผู้ซื้อน้ำมันดิบไนจีเรียรายใหญ่ที่สุด"
        "ปัจจุบันนี้โรงกลั่นดังกล่าวจะซื้อน้ำมันดิบแบคเคนทางรถไฟในปริมาณ 250,000 บาร์เรลต่อวัน และจะซื้อน้ำมันดิบไนจีเรียในปริมาณที่น้อยมาก และนั่นคือช่องทางทางการค้าที่วิตอลควรพิจารณา"
        นายเทย์เลอร์กล่าวว่า โรงกลั่นน้ำมันบริเวณชายฝั่งกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐได้รับประโยชน์จากภาวะเฟื่องฟูของหินน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันกลุ่มนี้ก็จัดส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่แคนาดาและภูมิภาคชายฝั่งตะวันออกของ สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าภูมิภาคดังกล่าวจะลดการใช้น้ำมันดิบที่ผลิตจากทะเลเหนือและแอฟริกาตะวันตก
        เมื่อได้รับคำถามว่า ซาอุดิอาระเบียจะยังคงขายน้ำมันจำนวนมากให้แก่ สหรัฐต่อไปหรือไม่ ในขณะที่ราคาน้ำมันในสหรัฐอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นายเทย์เลอร์ตอบว่า มีเหตุผลบางประการในทางยุทธศาสตร์ สำหรับซาอุดิอาระเบียในการขายน้ำมันให้แก่สหรัฐต่อไป แต่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆไม่มีเหตุผลให้ต้องทำเช่นนั้น
        "เวเนซุเอลาและเม็กซิโกประสบปัญหาเรื่องรายได้มากกว่าซาอุดิอาระเบีย  ดังนั้นเวเนซุเอลาและเม็กซิโกจึงไม่ควรขายน้ำมันให้แก่สหรัฐเลยถ้าหากส่วนต่างราคายังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน โดยส่วนต่างราคาที่ระดับปัจจุบันบ่งชี้ว่า ไม่ควร มีประเทศใดส่งออกน้ำมันให้แก่สหรัฐเลยแม้แต่น้อย"
 
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น