เอเจนซีส์ - “จีน” เปิดบ้านรับสองอาคันตุกะสำคัญ “อินเดีย-รัสเซีย” โดยกับชาติแรกนั้นมีการลงนามความร่วมมือรักษาความปลอดภัยตามแนวพรมแดน เพื่อลดความขัดแย้งที่มีมานาน ส่วนกับประเทศหลังนั้น ปักกิ่งจรดปากกาเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำมันมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์กับมอสโก
กรอบโครงข้อตกลงระหว่างรอสเนฟต์ ผู้ผลิตน้ำมันดิบที่เป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่สุดของโลกจากรัสเซีย กับ ซิโนเปก บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน ได้รับการประกาศระหว่างที่นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ เดินทางเยือนปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (22 ต.ค.)
ผู้นำรัสเซียระบุระหว่างการสนทนาออนไลน์ในวันพุธ (23 ต.ค.) กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนที่สำนักข่าวซินหวาของทางการปักกิ่งจัดขึ้นว่า สัญญาที่ครอบคลุมแหล่งน้ำมันราว 20 แห่งนี้ หมายถึงน้ำมัน 100 ล้านตันในช่วงทศวรรษหน้า รวมมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์
เมดเวเดฟเสริมว่า รัสเซียและจีนมีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้าระหว่างกันโดยเล็งมูลค่าไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 และ 200,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 จากระดับ 88,000 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลีของทางการจีนฉบับวันพุธ ได้รายงานข่าวการเยือนของเมดเวเดฟในหน้าหนึ่ง เช่นเดียวกับ โกลบัล ไทมส์ ซึ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
“จีนและรัสเซียสนับสนุนกันและกันบนเวทีโลกในประเด็นที่มีข้อกังวลร่วมกัน คำสัญญาในการเป็นพันธมิตรในทุกด้านจำเป็นต้องใช้ความพยายามร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านพลังงานและเทคโนโลยี ตลอดจนการลงทุนร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนที่มีศักยภาพสูงและสมควรผลักดัน” โกลบัล ไทมส์ระบุ
ทางด้าน จิงตง หยวน รองศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายการทหารและต่างประเทศของจีน แสดงความเห็นว่า แม้มีพัฒนาการที่ดี แต่อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนก็เป็นสิ่งที่มอสโกต้องจำใจยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแผ่อิทธิพลในเอเชียกลางที่ทำให้เครมลินไม่สบายใจอย่างมาก
“กระนั้น สำหรับขณะนี้ปัญหานี้และปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความแตกแยกได้รับการจัดการอย่างดี เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทุ่มเทความสนใจกับความท้าทายที่เฉพาะหน้ามากกว่า”
ปัจจุบัน สองประเทศร่วมมือกันบ่อยครั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ในระหว่างสงครามเย็น ทั้งคู่เป็นพันธมิตรสลับกับเป็นศัตรูกันตลอดเวลา
การเยือนของเมดเวเดฟเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ของอินเดียเดินทางมากระชับสัมพันธ์ที่ปักกิ่ง
หลังจากหารือกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในวันพุธ (23 ต.ค.) แล้ว สองประเทศได้ลงนามข้อตกลงร่วมมือป้องกันแนวชายแดนด้านภูเขาหิมาลัย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าวที่ยืดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษ
จีนและอินเดียทำสงครามกันช่วงสั้นๆ ในปี 1962 พรมแดนระหว่างสองประเทศไม่เคยมีการปักเขตแบ่งแดนอย่างเหมาะสม และแม้ทั้งคู่ลงนามข้อตกลงรักษาสันติภาพกันมาหลายฉบับ แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา อินเดียกล่าวหาว่า กองทัพจีนรุกล้ำอาณาเขตเกือบ 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดการเผชิญหน้าตึงเครียดนาน 3 สัปดาห์ และคลี่คลายลงเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างถอนกำลังออกไปในที่สุด
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอย ผู้นำจีนและอินเดียร่วมลงนามข้อตกลงส่งเสริมการสื่อสารระหว่างกันเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายกำลังพลตามแนวพรมแดน จัดประชุมเป็นระยะ และร่วมปราบปรามการลักลอบขนสินค้า รวมทั้งละเว้นการดำเนินการที่ยั่วยุระหว่างการลาดตระเวนในพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน
หลี่กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้จะส่งเสริมมิติใหม่ในความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ขณะที่ซิงห์ขานรับว่า ข้อตกลงล่าสุดจะช่วยรับประกันสันติภาพ เสถียรภาพ และความสามารถในการคาดการณ์ตามแนวพรมแดน
นอกจากวาระด้านการทหารแล้ว ซิงห์ยังมีเป้าหมายในการเปิดตลาดและดึงดูดการลงทุนจากจีน สองประเทศตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 จาก 61,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว โดยที่อินเดียนั้นเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าถึง 40,770 ล้านดอลลาร์ จากเพียง 1,080 ล้านดอลลาร์ในปี 2001-2002