ASTVผู้จัดการรายวัน - เอ็กโกฯ เผยเหตุขายหุ้น “แอ๊บโซลูท เพาเวอร์พี” โอกาสขยายงานยากและนโยบายรัฐผันผวน โดยยอมเฉือนขายขาดทุนไป ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าเควซอนส่วนขยายที่ฟิลิปปินส์คาดต้นปีหน้าเซ็นสัญญาได้ ส่วนโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่อินโดฯ มีความชัดเจนใน Q1/57 เบื้องต้นสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 200-300 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์ พี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจไบโอดีเซลทั้งหมด 50%ให้กับสิงห์คอร์เปอเรชั่น ที่มีธุรกิจสวนปาล์มอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจมีข้อจำกัดในการขยายงาน และยังมีผันผวนจากนโยบายรัฐทั้งราคาวัตถุดิบและการนำไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซล ทำให้เป็นอุปสรรคในการวางแผนดำเนินงาน
สำหรับราคาขายหุ้นนั้นคิดตามมูลค่าคงเหลืออยู่ที่ 10-15 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผลขาดทุนสะสมอยู่ ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ใช้เงินลงทุนในบริษัท Absolute Power P จำกัด ประมาณ 65 ล้านบาท
“โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่เข้าสู่ธุรกิจไบโอดีเซล เมื่อบริษัทฯเข้าไปลงทุนแล้วพบว่าโอกาสขยายงานทำได้ยาก ให้ผลตอบแทนไม่มาก รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก จึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดไป อย่างไรก็ตาม หากมีโครงการใดของบริษัทที่ให้ผลตอบแทนไม่ดีก็อาจจะมีการขายธุรกิจออกไป”
ในปี 2554 เอ็กโกฯ ได้เข้าร่วมทุนในโครงการโรงผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซลของบริษัท Absolute Power P จำกัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 โดยมีกำลังการผลิต 3 แสนลิตร/วัน มูลค่าโครงการ 275.5 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าเควซอนส่วนขยายอีก 500 เมกะวัตต์ในฟิลิปปินส์นั้น ในเร็วๆ นี้บริษัทฯ จะลงนามความร่วมมือในโครงการดังกล่าวและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการนี้ หลังจากในช่วงต้นปี 2557 คาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าในต้นปี 2558 แล้วเสร็จจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2561 โดยโครงการนี้มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 14% สูงกว่าธุรกิจไฟฟ้าในไทยที่มีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ ที่ 12%
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมืองที่อินโดนีเซียก็มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2557 โดยเบื้องต้นจะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 200-300 เมกะวัตต์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ หลังจากนั้นจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม และใช้ถ่านหินจากเหมืองของบริษัทในอินโดฯ
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมขนาด 80-90 เมกะวัตต์ จังหวัดชัยภูมิ คาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในต้นปีหน้า และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2559 โดยโครงการนี้ บริษัทฯ ถือหุ้นใหญ่ 90% และ PVI ถือหุ้นส่วนที่เหลือ
“บริษัทฯ ไม่สนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากต้องลงทุนสูงทั้งราคาที่ดิน แนวสายส่ง และอื่นๆ แม้ว่าราคารับซื้อไฟจะสูงก็ตาม โดยผู้ร่วมทุนของบริษัทยังแนะนำไม่ให้ลงทุน”
ทั้งนี้ บริษัทฯ วางงบลงทุนในปีหน้าไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่องทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมโบโค ร็อค ที่ออสเตรเลีย 5 พันกว่าล้านบาท โรงไฟฟ้าขนอมส่วนขยาย 5 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการที่ราชบุรี คือ โรงไฟฟ้าทีพี โคเจน และเอสเค โคเจน 4 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 1.3 พันล้านบาท และโรงไฟฟ้าเควซอนส่วนขยาย ที่ฟิลิปปินส์อีก 2 พันล้านบาท โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่ จ.ชัยภูมิ ขนาด 80-90 เมกะวัตต์ 4 พันล้านบาท
รวมทั้งยังแสวงหาการลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยและเอเชียแปซิฟิก ทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว ออสเตรเลีย เป็นต้น