xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 20 ปี “โลว์คอสต์” ครองตลาดการบิน 42% ไทย-อาเซียนต้องการเครื่องบินใหม่กว่า 3 พันลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โบอิ้ง” เผยโลว์คอสต์แอร์ไลน์ครองตลาด คาดอีก 20 ปีมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 42% จากปัจจุบันอยู่ที่ 29% ช่วยดันตลาดการบินของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตสูงที่สุดในโลก เปิด AEC ทำให้การบินเปิดเสรี แข่งขันรุนแรง ค่าตั๋วถูกกระตุ้นการเดินทาง โดยอุตฯ การบินของโลกย้านฐานจากอเมริกาและยุโรปมาอยู่ที่ฝั่งเอเชีย และต้องการเครื่องบินใหม่กว่า 3,000 ลำ ชี้จุดเด่นไทยมี ศก.เติบโตสูง ชนชั้นกลางเพิ่ม ท่องเที่ยวแข็งแกร่ง หนุนขยายสุวรรณภูมิใช้คู่ดอนเมือง

นายแรนดี ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน เปิดเผยว่า ตลาดด้านการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าทางเครื่องบินของประเทศไทยในปี 2555 เติบโตถึง 15% โดยคาดการณ์แนวโน้มตลาดด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 20 ปีข้างหน้าเติบโตสูงที่สุดในโลก โดยปริมาณเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากปัจจุบัน รวมถึงแถบตะวันออกกลางและประเทศจีนที่มีการเดินทางเข้าออกทางอากาศสูงมาก และการแข่งขันในธุรกิจการบินจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยการขนส่งทางอากาศจะย้ายจากอเมริกาและยุโรปมาอยู่ที่ทวีปเอเชีย หรือสัดส่วนจาก 35% ในปัจจุบันเป็น 50% ในปี 2575

ทั้งนี้ ในส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) มีการเติบโตสูงมาก โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 29% และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 42% โดยจากการศึกษาวิเคราะห์ของโบอิ้ง พบว่าในปี 2556 มีการเดินทางโดยเครื่องบินถึง 3,000 ล้านคน และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 6,500 ล้านคนต่อปี และคาดว่าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีจำนวนฝูงบินเครื่องบินพาณิชย์เติบโตเป็น 3 เท่าของปัจจุบัน โดยระหว่างปี 2556- 2575 จะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ทั้งสิ้นประมาณ 3,080 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 13,950,000 ล้านบาท

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศไทยถือว่ามีความโดดเด่นเนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตสูง มีชนชั้นกลางเพิ่ม และมีการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและการเปิด AEC จะส่งผลให้ตลาดการบินเสรี การแข่งขันจะเพิ่มมากขึ้น ค่าโดยสารจะต่ำลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและท่องเที่ยวโดยใช้เครื่องบิน และเห็นว่าการพัฒนาและขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้มีความสะดวกมากขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สายการบินต่างๆ ตัดสินใจเปิดเที่ยวบินเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดให้บริการควบคู่เพื่อช่วยลดความแออัดของเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบหรือทำให้การเติบโตด้านการขนส่งทางอากาศไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ประเด็นแรกคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งของโลก และในภูมิภาคต่างๆ ประเด็นที่สองคือ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความพร้อมของท่าอากาศยาน การบริหารจัดการทางการบินเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมและความต้องการเดินทาง ส่วนการพัฒนาเครื่องบินเพื่อรองรับความต้องการของตลาดนั้น จะต้องวิเคราะห์ในหลายประเด็น เช่น ราคาน้ำมัน ความพร้อมของท่าอากาศยานต่างๆ พื้นที่บนน่านฟ้าที่จะรองรับจำนวนอากาศยานที่เพิ่มขึ้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีทางการบิน ซึ่งพบว่าสายการบินมีความต้องการเครื่องบินที่บินได้บ่อยหรือถี่โดยไม่หยุด เพื่อใช้ในการเพิ่มเที่ยวบินไปยังปลายทางมากกว่าการซื้อเครื่องบินเพิ่ม
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สายการบินต้นทุนต่ำจะมีการเติบโตสูง จึงมีความต้องการเครื่องบินแบบทางเดินเดียวมากที่สุด รองรับผู้โดยสารได้ 100-200 ที่นั่ง ซึ่งโบอิ้งจะเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 737 รุ่นใหม่ และ 737 MAX รุ่นล่าสุด ในปี 2560 โดยคาดว่าจะมีความต้องการหรือมีสัดส่วนถึง 70% ส่วนเครื่องบินขนาดเล็กและขนาดกลางแบบ 2 ทางเดิน เช่น โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ถึง 20% และ 777-300ER (EXTENDED RANGE) เป็นเครื่องบินที่อยู่ในความต้องการมากที่สุด โดยมีมูลค่าคิดเป็น 25% ของมูลค่าเครื่องบินใหม่ทั้งหมด

สำหรับในประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ และจะรับมอบในปี 2557 ส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่แบบ 2 ทางเดิน 400 ที่นั่ง เช่น โบอิ้ง 747-8 Intercontinental คาดว่าจะมีความต้องการประมาณ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 620,000 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น