xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดการบินไทยปรับโครงสร้างฝ่ายขายแบ่งเจาะรายตลาดหวังฟื้น Q4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสรจักร  เกษมสุวรรณ  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
บอร์ดการบินไทยเห็นชอบปรับโครงสร้างฝ่ายขายรุกตลาดหารายได้เพิ่ม ส่งไทยสมายล์เจาะตลาดจีนเปิด 4 เส้นทางใหม่บินตรงเมือง ฉงชิ่ง-ฉางชา-หลวงพระบาง-เซนได สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบินเริ่ม 27 ต.ค.นี้และหลวงพระบาง และเซนได เริ่มช่วงปลายปี ส่วนผลดำเนินงาน ส.ค. cabin Factor 78% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เป็นประธานวานนี้ (19 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวความคิดการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจการบินในปัจจุบันและให้มีประสิทธิภาพในการบริหารงานเพื่อเป็นการหารายได้เข้าสู่องค์กร โดยการปรับโครงสร้างใหม่จะมีการแบ่งฝ่ายขายออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและบริหารรายได้ 2. ฝ่ายขาย-ประเทศไทยและอินโดจีน 3. ฝ่ายขาย-ภูมิภาค 4. ฝ่ายขาย-ระหว่างทวีป 5. ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิตอล พร้อมกันนี้บอร์ดยังได้แต่งตั้งฝ่ายบริหารระดับผู้อำนวยการใหญ่ทดแทนผู้บริหารซึ่งเกษียณอายุและเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ด้วย

“การปรับโครงการสร้างคาดว่าจะต้องมีการประเมินการทำงานของผู้บริหารในช่วง 3-6 เดือนว่าเป็นอย่างไร สามารถบริหารงานได้ตามเป้าที่วางไว้หรือไม่ โดยเป้าหมายในการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะช่วยฟื้นสถานการณ์ในไตรมาส 4/2556 ของบริษัทให้ได้ และต้องมีการวางแผนว่าไตรมาส 1 ของปี 2557 ที่ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% จากรายได้เดิมที่ทำไว้ 10-11% และคาดว่าสิ้นปี 2557 ยอดขายตั๋วโดยสารผ่านอินเตอร์นั้นจะต้องอยู่ที่ 20%” นายสรจักรกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเปิดเส้นทางบินใหม่ จำนวน 4 เส้นทาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และรองรับความต้องการของตลาด โดยเพิ่มจุดบินใหม่ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย เส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจ การบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2556, เส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฉางชา สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจ การบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2556 และจะเพิ่มความถี่เป็นสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

เส้นทางบิน ไป-กลับ กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป และเส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-เซนได ประเทศญี่ปุ่น ทำการบินโดยการบินไทย ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330-300 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป

และรับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่ง ประจำเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) รวมทั้งระบบเฉลี่ย 78.0% ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ย 78.7% โดยยังมีบางเส้นทางที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารในเดือนนี้สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เส้นทางยุโรป เส้นทางภูมิภาคสายใต้ และสายตะวันออกกลาง นอกจากนี้ เมื่อคิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 6.2% ส่วนปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat Kilometer: ASK) เพิ่มขึ้น 10.8% และจากการรับมอบเครื่องบินใหม่และปรับเส้นทางบินให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสาร เป็นผลให้ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger - Kilometer: RPK) เพิ่มขึ้น 9.9%

สำหรับหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.0% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีเฉลี่ย 82.5% ซึ่งเป็นผลจากการขยายเส้นทางบินเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปัจจุบันหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ให้บริการจำนวน 13 เส้นทาง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ให้บริการจำนวน 4 เส้นทาง ส่วนการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ (Revenue Freight Ton-Kilometers: RFTK) ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 9.4%

ในขณะที่ปริมาณการผลิต (Available Dead Load Ton-Kilometers: ADTK) เท่ากับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) โดยรวมทั้งใต้ท้องเครื่องบิน (Belly) และเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) เฉลี่ยเท่ากับ 45.6% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 50.4%
กำลังโหลดความคิดเห็น