xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ตั้งบริษัทลูกหารายได้เพิ่ม ด้าน BMCL หวังรับจ้างเดินรถเตาปูน-บางซื่อลดเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เห็นชอบตั้งบริษัทลูกบริหาร 5 สายงานธุรกิจ เร่งหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากค่าโดยสาร คาดใน 6-7 ปี มีกำไร ลดพึ่งพางบประมาณ ด้าน BMCL เร่งสรุปซื้อรถไฟฟ้าสีม่วง โดยพ่วงซื้อรถสำหรับ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ให้จบใน ต.ค.นี้ ยอมรับหวังเดินรถ 1 สถานีแบบ PPP-Gross Cost เพื่อลดความเสี่ยง มั่นใจเปิดสีม่วงจะพ้นวิกฤติขาดทุน คาดผู้โดยสาร 2 สายมีเกือบ 6 แสนคน/วัน

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (18 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการตั้งบริษัทลูกของ รฟม.เพื่อบริหาร 5 สายธุรกิจ และเห็นชอบกรอบแผนแม่บทเทคโนโลยีการสื่อสาร ปี 2557 และรูปแบบการทำธุรกิจ TOD : Transit Oriented Development ซึ่งจะเป็นกรอบตัวชี้วัดการทำงานของผู้ว่าฯ รฟม. โดยส่วนของรายละเอียดให้ไปจัดทำและเสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทลูกนั้น รฟม.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษามาแล้ว 6 เดือน และสรุปให้ รฟม.จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งโดยบริหาร 5 สายงานธุรกิจ ประกอบด้วย 1. MRT Management (MRTM) : สายธุรกิจบริหารสถานี ดำเนินธุรกิจเช่าพื้นที่ การจำหน่ายสินค้า และกิจกรรมทางการตลาด 2. MRT Communication ( MRTC) : สายธุรกิจการโฆษณา ดำเนินธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์บริเวณตัวรถ สถานี พื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องและระบบอื่นๆ 3. MRT Service (MRTS) : สายธุรกิจระบบตั๋วร่วมและขนส่งเสริม ดำเนินธุรกิจที่จอดรถ ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งเสริม 4. MRT Development (MRTD) : สายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาฯบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุง สถานีและพื้นที่โดยรอบ 5. mRT Network (MRTN) : สายธุรกิจเดินรถ ดำเนินธุรกิจเดินรถ ซ่อมบำรุง จัดหา/ผลิตรถไฟฟ้า ให้บริการที่ปรึกษา

โดยเป้าหมายของการจัดตั้งโฮลดิ้ง และ 5 สายธุรกิจนั้น จะทำให้ รฟม.มีรายได้เพิ่มโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ โดยจะมีกำไรใน 6-7 ปี หลังจัดตั้งแล้วเสร็จ โดยเสนอขอตั้งโฮลดิ้งในต้นปี 2557 และในอนาคตอาจจะนำบริษัทลูกเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

สำหรับแนวทางการตั้งบริษัทลูก ระยะแรกในต้นแี 2557 จะตั้งเป็นส่วนงานธุรกิจ หรือ MRTB ภายใต้รฟม.ก่อนเพื่อให้เริ่มงานในส่วนของ 5 สายธุรกิจได้ เนื่องจากขั้นตอนในการจัดตั้ง MRTB ให้เป็นบริษัทลูกคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ปี โดยการตั้งบริษัทลูกมีข้อดีในเรื่องกฎระเบียบและอัตราเงินเดือนที่ยืดหยุ่นกว่า รฟม.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถสรรหาผํ้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาได้ง่ายกว่า โดยจะต้องศึกษาความเหมาะสมว่าจะให้ รฟม.ถือหุ้น100% หรือให้หน่วยงานอื่นเ้ามาร่วมด้วย

นอกจากนี้ บอร์ดได้มีมติต่อสัญญากลุ่มที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ออกไปอีกจากสัญญาเดิมสิ้นสุดวันที่ 15 มิถุนายน 2556 เป็นสิ้นสุดวันที่ 7 ธันวาคม 2556 โดย รฟม.ไม่ต้องจ่ายค่างานเพิ่มส่วนท่ี่่ปรึกษาไม่ต้องเสียค่าปรับ เพราะไม่มีความผิด เนื่องจากสาเหตุงานล่าช้ามาจากปัญหาไม่สามารถเข้าพื้นที่หมู่บ้านเสริมสินได้ โดยหลังจากจบสัญญาค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง

เร่งสรุปซื้อรถสีม่วงพ่วง 1 สถานีใน ต.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า หลังจากได้ลงนามสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) กับรฟม.เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อจัดหาระบบรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือนนี้ หรือภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอขอความเห็นชอบ รฟม.ในเรื่องระบบรถไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานต่อไป

ส่วนการเจรจาเดินรถ 1 สถานีของสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางซื่อ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ รฟม.เจรจากับบริษัทในรูปแบบ PPP-Net Cost หรือร่วมทุน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐโดยให้ต่อท้ายสัมปทานไปกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล และหมดอายุสัมปทานพร้อมกันในปี 2572 หากไม่ได้ให้เจรจารูปแบบ PPP-Gross Cost หรือร่วมทุนกับเอกชนโดยรัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยให้หมดอายุในปี 2572 เหมือนกันซึ่งบริษัทเห็นว่าควรใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost เหมือนสีม่วงเพื่อความต่อเนื่องในการเดินรถ

“การจัดซื้อรถไฟฟ้ามาให้บริการ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) เพื่อเขื่อมสายสีม่วงกับรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นกำลังพิจารณาว่าจะเป็นการเพิ่มขบวนรถจาก 3 ตู้/ขบวนเป็น 4 ตู้ /ขบวน หรือจะเพิ่มขบวนรถอีก 2-3 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้เท่าเดิม ว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมกว่า โดยหากเพิ่มเป็น 4 ตู้/ขบวนจะสามารถรับคนได้เพิ่มในช่วงเร่งด่วน แต่ในช่วงกลางวันที่มีผู้โดยสารน้อยรถจะว่าง วิ่ง4 ตู้จะเปลืองค่าไฟ ขณะที่การเพิ่มขบวนรถจะมีปัญหาเรื่องความถี่ในช่วงเร่งด่วน อยู่ที่ 2 นาที/ขบวนแล้ว อย่างไรก็ตามจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าส่วนนี้รวมไปกับ 63 ตู้ ของสายสีม่วง เพื่อให้ได้ราคาถูกลง"นายชัยวัฒน์กล่าว

โดยจากประมาณการณ์คาดว่าเมื่อเปิดเดินรถสีม่วงในปี 2559 จะมีผู้โดยสารประมาณ 1.6-1.8 แสนคน/วัน และจะส่งผ่านเข้าสู่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินประมาณ 8 หมื่น-1 แสนคน/วัน ดังนั้นเดินรถ 1 สถานีควรเปิดพร้อมกับสีม่วง ในขณะที่สายสีน้ำเงินส่วนใต้ดินจะมีผู้โดยสารเพิ่มจาก 3 แสนคน/วันเป็นเกือบ 5 แสนคน/วัน ซึ่งจะทำให้ไม่ขาดทุนโดยจะเหลือเพียงการขาดทุนสะสมประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น