xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.เตรียมยกเครื่องแผนกู้ภัยและอพยพผู้โดยสารใหม่ รับบกพร่องการประสานหน่วยงานนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทอท.ตรียมปรับแผนรับเหตุฉุกเฉินและการอพยพผู้โดยสาร ตั้งแต่รันเวย์จนถึงอาคารผู้โดยสาร “ศิธา” เผยเจ้าหน้าที่สายการบินไม่คุ้นเคยเส้นทางในรันเวย์ทำให้การอพยพล่าช้า ยันมีห้องรับรองเหตุฉุกเฉินมีแต่สายการบินไม่รู้เข้าไปส่งไม่ถูกจุด เตรียมประสานทุกส่วนเชื่อมระบบทำความเข้าใจใหม่ สร้างแน่รันเวย์สำรองคาดปีครึ่งเสร็จ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการสาธิตขั้นตอนการปฏิบัติในเหตุการณ์ฉุกเฉินกรณีอากาศยานอุบัติเหตุในเขตท่าอากาศยาน ของฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังจากเกิดเหตุเครื่องบิน A 330-300 ของสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 679 เส้นทางกว่างโจว-กรุงเทพฯ ที่ประสบเหตุเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่งฝั่งตะวันออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อคืนวันที่ 8 กันยายน เวลา 23.56 น. และฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เข้าช่วยเหลือ โดยไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 23.57 น. รวมทั้งสามารถดำเนินการดับเพลิงและกู้ภัยได้ทันที ถือเป็นการปฎิบัติที่ดีเยี่ยมตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ ได้มีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายหลังเกิดเหตุว่าใช้เวลานาน ในขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอให้ทอท.จัดทำห้องรับรองผู้โดยสารในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากมีผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เกิดเหตุมีจำนวนมากถึง 288 คน ต้องกระจายกันไปทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง

น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีห้องรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาคารเทียบเครื่องบินภายในประเทศ A, B และเปิดพร้อมให้บริการแต่ไม่ได้มีการประสานเพื่อนำผู้โดยสารเข้าไปที่ห้องดังกล่าว ซึ่งจุดนี้เป็นปัญหาในกระบวนการแจ้งประสานงาน ซึ่งจะต้องปรับปรุง ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าใหญ่ขั้นสูงสุดเท่าที่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิมาเป็นเวลา 7 ปีซึ่งจะต้องนำข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการปรับปรุงแก้ไข และทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยมอบหมายให้นางระวิวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.ตรวจสอบว่าจะต้องปรับปรุงจุดใดบ้างรวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการกู้ภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอหรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม เช่น รถรับผู้โดยสาร รถนำหรือรถ Follow me รวมถึงต้องประสานกับทางตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรณีที่พาสปอร์ตของผู้โดยสารที่ประสบเหตุอยู่บนเครื่อง จะสามารถออกใบชั่วคราวให้ก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านเข้าเมืองได้หรือไม่

“ในวันนี้ (13 ก.ย.) ผมจะประชุมร่วมกับหน่วยงาน ทอท.ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีเหตุเครื่องบินการบินไทยไถลออกนอกรันเวย์ เพื่อสรุปการทำงานในส่วนที่รับผิดชอบและประเมินว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้างที่ต้องปรับปรุง ต้องยอมรับว่าตลอด 7 ปี ที่ผ่านมาการฝึกซ้อมแผนการเผชิญเหตุต่างๆ ทอท.จะทำภายในแต่หลังจากนี้จะต้องประสานกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงสายการบินต่างประเทศให้เข้าใจ เช่น เมื่อเกิดเหตุจะต้องนำผู้โดยสารเข้ามาทางใด ซึ่งเหตุครั้งนี้ทางการบินไทยใช้รถของตัวเองเข้าไปรับผู้โดยสาร ซึ่งคนขับไม่คุ้นเส้นทางด้านในรันเวย์เพราะไม่ใช้เส้นทางปกติที่วิ่งประจำ ตรงนี้ก็คงต้องดูว่าจะจัดรถของ ทอท.สำหรับรับผู้โดยสารกรณีฉุกเฉินเพิ่มหรือจัดเจ้าหน้าที่ประจำที่ส่วนกู้ภัยตลอด 24 ชม.สำหรับขับรถนำรถของสายการบินเข้าไปรับผู้โดยสารจากจุดเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 กันยายน เกิดเหตุเวลา 23.56 น. ฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เข้าช่วยเหลือ โดยไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 23.57 น. รวมทั้งสามารถดำเนินการดับเพลิงและภู้ภัยได้ทันที โดยปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยอากาศยานตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( International Civil Aviation Organizationa : ICAO) ซึ่งกำหนดว่าเมื่ออากาศยานอุบัติเหตุ รถดับเพลิงอากาศยานจะต้องเข้าถึงเขตอากาศยานอุบัติเหตุไม่เกิน 3 นาที โดยสุวรรณภูมิมีสถานีดับเพลิงและกู้ภัย3 สถานี ได้แก่ สถานีดับเพลิงอากาศยาน 1 (ตั้งอยู่กึ่งกลางรันเวย์ตะวันออก) สถานีดับเพลิงอากาศยาน 2 (ตั้งอยู่กึ่งกลางรันเวย์ตะวันตก) และ สถานีดับเพลิง Main Station มีรถดับเพลิงจุดและ 5 คันส่วนท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท.อีก 5 แห่งคือท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยาน แม่ฟ้าหลวงเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีหน่วยงานด้านการดับเพลิงและกู้ภัย และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน ICAO เช่นเดียวกัน

สำหรับการก่อสร้างรันเวย์สำรองนั้น น.ต.ศิธากล่าวว่า บอร์ด ทอท.ได้เคยเห็นชอบการก่อสร้างรันเวย์สำรองความยาว 2,900 เมตรที่สนามบินสุวรรณภูมิไปแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ โดยใช้หลักกฎหมายด้านความปลอดภัยเช่นเดียวกับสนามบินทั่วโลกที่ต้องมีไว้ใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยไม่ยึดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในภาวะปกติรันเวย์จะไม่ถูกใช้งาน ซึ่งจะก่อสร้างฝั่งตะวันตกติดกับรันเวย โดยในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ทอท.จะเสนอรายละเอียดในการดำเนินการทั้งวงเงินค่าก่อสร้างและกรอบค่าชดเชยต่อบอร์ด ทอท.อีกครั้ง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีครึ่ง








กำลังโหลดความคิดเห็น