xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลั่นทิ้งหุ้น SPRC 36% หลังเข็นเข้า ตลท.กลางปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.ยันขายทิ้งหุ้น SPRC 36% เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลางปี 57 หลังธุรกิจโรงกลั่นมาร์จินต่ำ และลดข้อครหาผูกขาดธุรกิจการกลั่น เผยเตรียมหารือ กฟผ.วางแผนรับมือพม่าปิดซ่อมแท่นที่เยตากุน ทำให้ก๊าซฯ หายจากระบบ 1,100 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน การันตีไม่มีปัญหาเหมือน เม.ย. 56

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันอยู่ 5 โรงกลั่นจากทั้งหมด 6 โรงกลั่น ซึ่งบริษัทฯ มีแผนจะขายหุ้นบางโรงกลั่นน้ำมันออกไป โดยจะขายหุ้นทั้งหมด 36% ในบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) เมื่อนำบริษัท SPRC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในกลางปี 2557

ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันมีมาร์จินต่ำ ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการใดจะขยายโรงกลั่นเพิ่มเติม ซึ่ง ปตท.ไม่ได้สร้างโรงกลั่นน้ำมันเอง แต่เข้าไปถือหุ้นในโรงกลั่นในช่วงที่แต่ละธุรกิจประสบปัญหา นอกจากนี้ยังเป็นการลดข้อกล่าวหาว่า ปตท.ผูกขาดธุรกิจการกลั่นในประเทศ ทำให้ขายน้ำมันสำเร็จรูปราคาแพงให้กับประชาชน ซึ่ง ปัจจุบัน ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นไทยออยล์ บางจาก ไออาร์พีซี สตาร์ปิโตรเลียมฯ และพีทีที โกลบอลเคมิคอล

สาเหตุที่ SPRC ต้องเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปตามเงื่อนไขการตั้งโรงกลั่นน้ำมันในไทย แต่ที่ผ่านมาได้เลื่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันโรงกลั่น SPRC มีกำลังการกลั่น 1.5 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีเชฟรอนถือหุ้นใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 64% และ ปตท.ถือหุ้น 36%

“เงินที่ได้จากการขายหุ้น SPRC นี้จะใช้ในการลงทุนธุรกิจต่างๆ ใน ปตท. คาดว่าคงได้เงินไม่มากนัก ส่วนหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ จะขายออกหรือไม่ ยังไม่ได้ตัดสินใจ”

วานนี้ (11 ก.ย.) นายไพรินทร์กล่าวในงานเสวนา “คุยสบายๆ สไตล์ ไพรินทร์ by สัญญา คุณากร” ให้กับพนักงาน ปตท. พร้อมกับชี้แจงประเด็นร้อนด้านพลังงานโดยเฉพาะการปรับขึ้นราคา LPG สำหรับครัวเรือน เดือนละ 50สตางค์/กก. โดยยืนยันว่าการปรับขึ้นราคา LPG ครัวเรือนเป็นนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระให้กองทุนน้ำมันที่การชดเชยการนำเข้า LPGในราคาที่สูง ซึ่ง ปตท.ไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด

พร้อมทั้งยืนยันว่าราคาขาย LPG ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสูงกว่าครัวเรือน ซึ่งโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของ LPG นั้นรัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเหมือนน้ำมันและสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ถ้านำ LPG มาใช้ภาคปิโตรเคมี ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยราคา LPG ที่ผู้บริโภคซื้ออยู่ที่ 18.1 บาท/กก. แต่ราคาที่ปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกก๊าซฯอยู่ที่ 19.1 บาท/กก. โดยยอมรับว่ากลุ่มปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพียง 1 บาท/กก. ซึ่งความจริงแล้วกลุ่มปิโตรเคมีไม่ควรต้องจ่าย เพราะการใช้เป็นวัตถุดิบกับเชื้อเพลิงเป็นคนละเรื่องกัน

นายไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ ปตท.ต้องมีกำไรเป็นแสนล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องนำกำไร (หลังจากจ่ายปันผลแล้ว 35%) ไปใช้ลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้ลงทุนแหล่งพลังงานเหมือนบางประเทศ เพื่อให้คนไทยรุ่นหลังได้มีพลังงานไว้ใช้

ทั้งนี้ ปตท.มี 8 ธุรกิจแต่มีเพียงธุรกิจน้ำมันเท่านั้นที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ทำให้มีความเข้าใจผิดว่า ปตท.ทำกำไรเกินควรจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะหาก ปตท.ขายน้ำมันแพงก็จะมีการนำเข้าน้ำมันมาแข่งขันมากขึ้น

“นับจากนี้ผมจะเดินสายพูดชี้แจงประเด็นพลังงานตามฟอรัมต่างๆ จนกว่าคนจะเข้าใจ และอยากจะขอให้กลุ่มคนที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหยุดการให้ข้อมูลต่อสาธารณชน เพราะสังคมบอบช้ำมากแล้ว”

นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมแผนรับมือกรณีปิดซ่อมแท่นผลิตในแหล่งเยตากุนที่พม่าระหว่างวันที่ 25 ธ.ค. 56 ถึง 8 ม.ค. 57 โดยจะต้องประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เพื่อรับมือด้านเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าที่จะต้องเปลี่ยนจากก๊าซเป็นน้ำมัน นอกจากนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาการนำก๊าซจากอ่าวไทยเข้ามาเพิ่มด้วย รวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี โดยในปี 2556 ตามแผนจะนำเข้า 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นราคาตลาดจร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 1 ล้านตัน โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาเหมือน เม.ย. 56
กำลังโหลดความคิดเห็น