“ปตท.” ผวาม็อบบุกต้านขึ้นราคา LPG สั่งพนักงานที่ไม่มีภารกิจสำคัญใดๆ กลับบ้านได้ตั้งแต่ 12.00 น.ทันที ตำรวจ 400 นายพรึบพร้อมรับมือ ติดป้ายสัญญาณเตือนระดับ 3 สีส้ม “ไพรินทร์” CEO ใหญ่ ปตท.เพิ่งตื่นแจงราคา LPG ขายให้ปิโตรเคมีต่ำกว่าครัวเรือน คนค้านมั่วตัวเลขเอาคนละฐานมาคิดหลอกลวงประชาชนทั้งที่จริงถ้าอิงโรงแยกก๊าซฯ ขายให้ครัวเรือนแค่ 10.20 บ.ต่อ กก.เท่านั้น ลั่นขึ้นราคาเป็นนโยบายรัฐ
นายณัฐชาติ จารุจินดา นายณัฐชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานเตรียม 800-1,000 คนจะเดินทางมาจัดเวทีต่อต้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน หรือ LPG 1 ก.ย.นี้ที่หน้าตึก ปตท.สำนักงานใหญ่ล่าสุด ปตท.ได้แจ้งขอความร่วมมือให้พนักงานในเครือ ปตท.ที่ไม่มีภารกิจหรือความจำเป็นต้องปฏิบัติงานสามารถกลับบ้านได้ตั้งแต่ 12.00 น.เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้ตั้งศูนย์รับมือสถานการณ์เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อที่จะแจ้งสถานการณ์ให้พนักงานได้เตรียมตัวเช่น หากกรณีมีการก่อม็อบยืดเยื้อ
นอกจากนี้ ปตท.ยังขึ้นป้ายหน้าตึก ปตท.แจ้งระดับสัญญาณเตือนภัยเป็นสีส้ม จากที่มีทั้งหมด 4 ระดับ เขียว เหลือง ส้ม แดง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ใกล้บริเวณนี้ยังคงสีเขียว ยกเว้นคลังพระโขนง เป็นระดับสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ส่วนของการรักษาความปลอดภัยได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 400 นายในการเฝ้าระวังสถานการณ์
“กรณีถ้าผู้คัดค้านจะยื่นหนังสือค้านขึ้นราคา LPG ผมคิดว่าก็อาจจะมีตัวแทนไปรับ แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าการขึ้นราคาเป็นเรื่องนโยบายรัฐที่ต้องการลดภาระเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท.ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร” นายณัฐชาติกล่าว
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.กล่าวชี้แจงต่อนักข่าวด่วนช่วงเวลา 11.00 น.วันนี้ (22 ส.ค.) ว่า กรณีที่มีผู้คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG 1 ก.ย.นั้นมีความพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ปตท.ขาย LPG ให้กับภาคปิโตรเคมีถูกกว่าภาคครัวเรือนโดยได้นำตัวเลขราคาที่ขายปิโตรเคมี 16.20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) มาเปรียบเทียบกับราคาที่ขายให้ประชาชนที่ 18.13 บาทต่อ กก. ซึ่งหากพิจารณาเพียงเท่านี้ประชาชนก็จะเห็นว่าเป็นจริง
แต่ข้อเท็จจริงนั้นเขาไม่ได้ระบุว่าตัวเลขนี้เป็นการหยิบเอาคนละฐานมาเล่นเพราะราคา LPG ครัวเรือน 18.13 บาทต่อ กก.เป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆ รวมถึงการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว แต่ขณะที่ ปตท.ขายให้กับประชาชนที่เป็นตัวเริ่มต้นหน้าโรงแยกก๊าซคือที่ 10.20 บาทต่อ กก.(ตรึงราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซฯที่333เหรียญฯต่อตัน) ขณะที่ราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ที่ ปตท.ขายปิโตรเคมีคือ 16.20-17.30 บาทต่อ กก. และหากรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจะอยู่ที่ 19.50 บาทต่อ กก. และการซื้อของปิโตรเคมีจะมาจาก 2 แหล่งคือ ราคาจากโรงแยกก๊าซฯและราคาจากโรงกลั่นที่เมื่อรวมแล้วเฉลี่ยราคาจะอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อ กก.
“ราคาแอลพีจีที่นำมาคำนวณจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นจึงต้องถามว่าเวลาที่เขาเอามาพูดนั้นยึดราคาอะไร ณ เวลาไหนมันต่างกรรมต่างวาระแต่คุณพูดไม่หมดถ้าบอกว่าปิโตรเคมีเอาเปรียบมันจึงไม่จริงและก็ยืนยันว่า ปตท.ขาย LPG ผู้บริโภคหน้าโรงแยกก๊าซฯ แค่ 10.20 บาทต่อ กก.ที่เหลือรัฐได้นำไปรวมภาษีฯ เงินกองทุนน้ำมันฯต่างๆ ถามว่าเราเอาเปรียบตรงไหน ขณะที่ราคานำเข้าไปไกลแล้ว 800 กว่าเหรียญฯ ต่อตัน” นายไพรินทร์กล่าว
นอกจากนี้ โรงแยกก๊าซฯ ที่ผลิตก๊าซได้ราว 13.6 ล้านตันต่อปี 50% ป้อนให้กับภาคครัวเรือน และขนส่ง ที่เหลือป้อนให้ปิโตรเคมี ซึ่งการที่บอกจะไม่จัดสรรให้ปิโตรเคมีเลยก็ต้องถามว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมายจะไม่ให้เขาอยู่รอดหรือ เพราะปิโตรฯ เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ทั้งยา เสื้อผ้ารองเท้า ถ้วยชาม แชมพู ผงซักฟอก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไม่น้อยกว่าการที่มาบอกว่าก๊าซฯ ควรเอาไว้ให้รถยนต์ใช้ก่อนตรงไหน