xs
xsm
sm
md
lg

SPCGรับอานิสงส์โซลาร์รูฟ ปรับเป้ารายได้แตะ 3พันล้านบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน – เอสพีซีจี ปรับเป้ารายได้ปีนี้เพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท หลังรับรู้รายได้จากการขายและติดตั้งโซลาร์รูฟให้บ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมปรับมูลค่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเป็น 5.6 พันล้านบาทเสนอขายนักลงทุนกลางต.ค.นี้ และออกหุ้นกู้ 8พันล้านบาทเพื่อใช้คืนหนี้ แย้มสนใจร่วมทุนโครงการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของเคียวเซร่าในไทย

นางสาวออมสิน ศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG)เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมปรับเป้าหมายรายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านบาทจากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ 2.4 พันล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากการขายและติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ)ทั้งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย หลังจากรัฐบาลเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟจำนวน 200 เมกะวัตต์ในวันที่ 23 ก.ย.นี้และประกาศผลรายชื่อในวันที่ 14 ต.ค. 2556
ขณะนี้มีลูกค้ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยนับร้อยรายเสนอให้บริษัทติดตั้งโซลาร์รูฟ โดยบางรายสนใจติดตั้งโซลาร์ลูฟเพื่อใช้เอง และบางรายสนใจเสนอขายให้การไฟฟ้าฯ โดยบริษัทฯจะดำเนินการยื่นขายไฟฟ้า คาดว่าทั้งปีจะติดตั้งโซลาร์รูฟให้ได้นับพันหลัง คิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 3.8 เมกะวัตต์สำหรับที่อยู่อาศัย ส่วนลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมหลายรายติดต่อให้บริษัทฯดำเนินการ คาดว่าจะติดตั้งและเสนอขายได้ไม่ต่ำกว่า 25 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรวมโครงการร่วมลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟ กับบมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA)ด้วย
“ ในปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้จากการขายและติดตั้งแผงโซลาร์รูฟประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะบันทึกรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 นี้ โดยตั้งบริษัทย่อย คือ โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 30% บริษัท เคียวเซร่า (ประเทศญี่ปุ่น) 25% ที่เหลือเป็น มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตร โดยไอเอฟซีสนใจเข้าร่วมถือหุ้นด้วย “
นางสาวออมสิน กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Inflastructur Fund) ว่า ขณะนี้บริษัทมีการปรับมูลค่ากองทุนฯเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5.5 พันล้านบาท เนื่องจากเรกูเลเตอร์ปรับค่าเอฟทีขึ้นอีก 7 สตางค์/หน่วย คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)จะอนุมัติไฟลิ่งแบบแสดงรายการข้อมูลภายในวันที่ 23 ก.ยนี้ หลังจากนั้นจะมีการนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์)แก่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และคาดว่าจะเสนอขายกองทุนฯได้กลางเดือนตุลาคม และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในปลายเดือนตุลาคม 2556
ขณะนี้มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าซื้อกองทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อเสนอขาย เบื้องต้นจะจัดสรรหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศคิดเป็น 60% และอีก 40 %ให้ประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ บริษัทฯจะมีการออกหุ้นกู้วงเงิน 8 พันล้านบาทภายในเดือนตุลาคมนี้ อายุหุ้นกู้ 2 ปี 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี สำหรับเงินที่ได้จากการขายกองทุนฯและออกหุ้นกู้นี้จะนำไปชำระคืนเงินกู้โครงการ (project Finance) และคืนเงินกู้ส่วนทุน (Equity Finance) ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนลดลงเหลือ 3 เท่าจากปัจจุบัน 7.47 เท่า โดยจะมีเงินเหลืออีก 1.4 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟ
นางสาวออมสิน กล่าวต่อไปว่า ทางเคียวเซร่า ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ มีแผนที่ตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในไทย มูลค่า 8 พันล้านบาท โดยบริษัทฯสนใจเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ในฐานะที่เป็นพันธมิตร
“ สำหรับความคืบหน้าในการร่วมทุนกับเคียวเซร่ารับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในซาอุดิอาระเบียและอินโดนีเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บริษัทฯอาจจะมีการระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่นักลงทุนทั่วไป (พีโอ) “
สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเร่งการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มให้ครบ 36 โครงการหรือคิดเป็น 260 เมกะวัตต์ คงต้องลุ้นว่าโครงการสุรินทร์ 1 และสุรินทร์ 2 ขนาดกำลังผลิต 7.46 เมกะวัตต์/แห่งจะเสร็จทันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (COD)ในปลายปีนี้หรือไม่ เนื่องจากบริษัทเพิ่งซื้อที่ดินได้ในเดือนส.ค.นี้ และใช้เวลาก่อสร้างเพียง 4 เดือนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น