xs
xsm
sm
md
lg

“พงษ์ดิษฐ” ทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ลั่นปี 63 RATCH ผลิตไฟ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “พงษ์ดิษฐ” บิ๊ก บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ คนใหม่ สั่งทบทวนแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เน้นผนึกกลุ่ม กฟผ. และขยายการลงทุนต่างประเทศ ตั้งเป้าหมายท้าทายปี 63 มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 2-3 แสนล้านบาท ลั่นเป็นบริษัทเอกชนไทยรายแรกที่ลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพม่า และจีบ “บ้านปู” ลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดนีเซีย เบนเข็มลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะทบทวนแผนกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ดีกว่าเดิมหลังจากการแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 4 นี้ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายท้าทายในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2563 จากแผนเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 7.8 พันเมกะวัตต์ในปี 2559 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องและอยู่ระหว่างการพัฒนารวม 6,302 เมกะวัตต์

โดยเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตใหม่จะต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีก 4 พันเมกะวัตต์ รวมเป็น 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2563 จะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้กึ่งหนึ่งจะมาจากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจาเพื่อซื้อกิจการหรือร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบที่ผ่านมา หรือเข้าประมูลไอพีพีที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงรอบใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) รอบใหม่ด้วย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีที่ดินบริเวณปทุมธานี 300 ไร่ สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 15 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 พันเมกะวัตต์จะมาจากการลงทุนในต่างประเทศ

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์การสร้างความเติบโตนั้นยังคงเน้นการลงทุนโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทน ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะปรับให้สมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่กับซื้อกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า และลาว เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งป้อนมาขายไทยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศและช่วยรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงจนเกินไป รวมทั้งยังมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบส่ง การฝึกอบรมด้านเดินเครื่องและบำรุงรักษาเพื่อเสริมรายได้ของบริษัทฯ

“แนวโน้มค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไอพีพีรอบที่ผ่านมาเสนอค่าไฟฟ้า 4.23 บาท/หน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.50 บาท/หน่วย ดังนั้นค่าไฟฟ้าในอีก 7-8 ปีข้างหน้าจะสูงถึง 4.23-5 บาท/หน่วย”

ทั้งนี้ บริษัทตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ปักฐานลงทุนธุรกิจไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพม่า เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยยอมรับว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าโดยภาคเอกชนเพียงลำพังประสบความสำเร็จได้ยาก บริษัทจะเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทวาย และลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนบน คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุป เนื่องจากเป็นการเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลไทย (จีทูจี) โดย กฟผ.จะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดและกำหนดโครงสร้างการลงทุนว่าจะมีใครร่วมทุนบ้าง ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนของบริษัทลูก กฟผ. และบริษัทเอกชนอื่นๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย โดยหารือกับพันธมิตรอย่าง บมจ.บ้านปู ซึ่งมีเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียอยู่แล้ว โดยจะเจรจาให้เข้ามาร่วมทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย หากรัฐบาลมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จากปัจจุบันที่มีการอุดหนุนราคาค่าไฟ คาดว่ากลางปี 2557 น่าจะมีความชัดเจนขึ้น

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะรั่ว โดยมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Feed in tarrif ในอัตราที่สูงถึง 42 เยน/หน่วย หรือประมาณ 13 บาท/หน่วย โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นรวม 200- 300 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทฯ ได้จับมือกับพันธมิตรร่วมลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 50 เมกะวัตต์แล้ว

“บริษัทฯ มีกลยุทธ์สร้างการเติบโต โดยจะผนึกกำลังกับ กฟผ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ มุ่งเน้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขายไฟฟ้ากลับไทยและประเทศในทวีปเอเชียอื่นๆ ที่มีศักยภาพ แสวงหาการลงทุนเพิ่มในไทยจากโครงการ SPP พลังงานทดแทน และการซื้อกิจการ รวมถึงแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจด้วย แสวงหาธุรกิจเกี่ยวข้องมากขึ้นเพื่อเสริมรายได้ และวางแผนทางการเงินระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับการลงทุน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบันรายได้ของบริษัทมาจากฐานธุรกิจ 3 แห่ง คือ ไทย ลาว และออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในทั้ง 3 ประเทศ โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเหมาะสมโครงการใน สปป.ลาว 3 โครงการ ขณะที่ออสเตรเลียมี 3 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับประเทศไทย บริษัทได้ให้น้ำหนักการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และการร่วมทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น