xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” สนอง “นายกฯ ปู” พาดูโทลล์เวย์ใช้ยางพาราฉาบผิว ส่วนใช้ก่อสร้างถนนต้องรอผลทดสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทล.เผยใช้ยางพาราในงานทางมาแล้วกว่า 10 ปี “ชัชชาติ” ยันต้นทุนสูงกว่าแอสฟัลต์ 15-18% แต่อายุใช้งานนานกว่า พาสื่อดูการใช้ยางพาราฉาบผิวถนนของดอนเมืองโทลล์เวย์ ชี้คุณสมบัติไม่ลื่นและแข็งแรง เผยกรมทางหลวงกำลังทดสอบในการใช้ทำเป็นชั้นทาง ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้ยางในงานถนนเป็นหมื่นตันจากปัจจุบันใช้เพียง 1,000 ตัน/ปี ชี้อนาคตโครงการใน 2 ล้านล้านยังต้องใช้ยางอีกมาก ทั้งรถไฟทางคู่และความเร็วสูงต้องใช้ยางรองรางกับหมอนคอนกรีต รวมถึงเจรจาผู้ประกอบการตั้งโรงงานผลิตล้อเครื่องบินในประเทศ ด้านทางหลวงเผยปี 57 สรุปผลทดลองใช้ยางพาราก่อสร้างถนน

วันนี้ (30 ส.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมสื่อมวลชนได้เดินทางไปตรวจการใช้ยางพาราในการก่อสร้างงานทาง โดยได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการทดสอบและผลงานในการนำยางพาราผสมกับแอสฟัลต์คอนกรีตในการก่อสร้างถนน ที่สำนักทางหลวงที่ 11 กรมทางหลวง จากนั้นได้ดูการปรับปรุงผิวทางโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมหลักในการฉาบผิวถนน หรือพาราสเลอรีซีล (PARA SLURRY SEAL) โดยมียางพาราเป็นวัสดุผสมเพิ่มในแอสฟัลต์รวมกับสารผสมเพิ่ม ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในด้านความหนืด ผิวหน้าไม่ลื่น

นายชัชชาติกล่าวว่า นโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หาทางสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราจากที่ส่งออกเป็นยางดิบ ราคาจึงต้องอิงกับตลาดโลก ซึ่งกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทซึ่งต้องดูแลถนนหลายแสน กม.ได้มีการพัฒนาโดยนำยางพารามาใช้กับงานทางโดยผสมกับยางมะตอย ซึ่งขณะนี้ได้ในส่วนของการฉาบผิวหนา 5 มม.ซึ่งทำให้ผิวทางความหนืดเพิ่มขึ้น 15% และอยู่ระหว่างวิจัยผสมกับ PARA AC โดยใช้ยางพาราในสัดส่วน 5% สำหรับชั้นทางหนา 5 ซม. ซึ่งเมื่อต้นปี 2556 กรมทางหลวงได้มีการทดสอบที่ถนนองครักษ์-นครนายก ระยะทางประมาณ 2 กม.จาก กม.51+750-53+750 ผลที่ได้ค่อนข้างดี คุณภาพเสถียรภาพของตัวชั้นทางดีขึ้น จะสามารถเริ่มใช้ในการก่อสร้างถนนได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำให้ปริมาณการใช้ยางพารามากขึ้นไป ซึ่งในอนาคตกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีโครงการก่อสร้างถนนและการซ่อมบำรุงอีกเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะเพิ่มการใช้ยางพาราจากปัจจุบันประมาณ 1,000 กว่าตันต่อปีในงานทางได้เป็นหมื่นตัน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการในนอนาคตอีกหลายโครงการที่สามารถใช้ยางพาราเป็นวัสดุได้ เช่น ตัวยางรองสะพาน ยางรองระหว่างรางกับหมอนคอนกรีตโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะใช้เป็นล้านๆ ท่อนเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากรางลงมาสู่หมอนคอนกรีตสามารถปรับจากการใช้ยางสังเคราะห์มาใช้ยางพาราให้มากขึ้น และในอุตสาหกรรมการบินได้หารือกับผู้ประกอบการให้มาตั้งโรงงานผลิตในประเทศได้หรือไม่ เพราะล้อเครื่องบินมีการสึกหรอสูง ต้องเปลี่ยนบ่อยเพราะต้องรับแรงเสียดสีจากการขึ้นลง

“ในแง่ความคงทนของถนน น่าจะทำให้การบำรุงรักษาลดลงจากเดิมใช้ยางมะตอยปกติ จะต้องมีการปรับปรุงผิวทางทุกๆ 7 ปี หากชะลอการซ่อมช้าลงก็จะประหยัดงบประมาณได้ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ช่วงที่ราคายางไม่สูงมากให้เร่งผลิตตัวน้ำยางเก็บไว้สำหรับใช้ในอนาคต เป็นการช่วยในช่วงที่ยางราคาตกได้ จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นความพยายามของกระทรวงคมนาคมแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องมีอีกหลายภาคส่วนที่เข้ามาช่วย กระทรวงคมนาคมอยู่ไกลจากเกษตรกร แต่อยากให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทาง บางอย่างต้องใช้เวลาต้องวิจัยเพิ่มเติมเป็นการมองอนาคตที่จะต้องทำถนนเพิ่มอีก โดยโครงการลงทุน 2 ล้านล้านก็จะมีการทำถนน 4 เลนอีกเกือบ 2,000 กม. ต้องการใช้ยางอีกเป็นจำนวนมาก” นายชัชชาติกล่าว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า กรมทางหลวงได้นำยางพารามาใช้ในงานทางกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนของการฉาบผิวทาง หรือพาราสเลอรีซีล ใช้งานจริงมา 3 ปีแล้ว โดยนำน้ำยางดิบมาปรับปรุงคุณภาพใส่วัสดุผสมแทรกมีจุดเด่นในด้านผิวที่คงทนแข็งแรง ไม่ลื่น และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี โดยปี 2556 ใช้ยางพาราคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท ปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท ส่วนชั้นทางถนนส่วนใหญ่ของกรมทางหลวงใช้แอสฟัลต์คอนกรีต (AC) เป็นหลัก ส่วนการใช้ยางพารามาผสม (PARA AC) นั้นอยู่ระหว่างการทดสอบ คาดว่าจะสรุปผลในปี 2557 และพิจารณาว่าจะสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างเส้นทางใดบ้าง โดยต้นทุนของ PARA AC จะสูงกว่า AC ประมาณ 15-18% หรือประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อ กม.แต่มีความคงทนกว่า ซึ่งทำให้อายุการใช้งานเพิ่มเป็น 8-9 ปีจึงจะซ่อมบำรุงใหญ่ ขณะที่ชั้นทางแบบ AC จะมีอายุใช้งาน 7-8 ปีต้องซ่อมบำรุงใหญ่










กำลังโหลดความคิดเห็น