xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ทุ่มงบเกือบ 500 ล้าน ซ่อมถนน 37 เส้นทางในพื้นที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ศอ.บต. ทุ่มงบประมาณปี 2557 เกือบ 500 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมถนน 37 เส้นทางในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมเสนอสร้างถนนยางพารา สาย 410 บันนังสตา-เบตง แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ทาง ศอ.บต. อยากจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องถนน ที่มีความเดือดร้อนมานาน หน่วยงานที่ดูแลถนนก็มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณในการดูแลซ่อมแซม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ทาง ศอ.บต.จึงได้เชิญผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง รวมทั้งผู้ที่รับผิดชอบ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม เพื่อดูว่างบประมาณทั้งหมดในปี 2557 ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงจะดูว่าจะมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

“ทาง ศอ.บต. ก็ได้รับความกรุณาจากผู้บัญชาการทหารบก ให้ทหารช่างลงมามีส่วนในการแก้ปัญหาเส้นทางที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบด้านงบประมาณ ทหารช่างที่จะลงมาดูแลตามนโยบายของ ผบ.ทบ.นั้น ขณะนี้ทาง ศอ.บต. ได้โครงการทั้งสิ้น 37 เส้นทาง อำเภอละ 1 สายทาง งบประมาณกว่า 450 ล้านบาทในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณอาจจะมากกว่านี้ หลังจากทางทหารช่างได้ลงไปสำรวจเส้นทาง โดยถนนเหล่านี้ทั้ง 37 สายทาง ก็จะให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ และดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย โดยทั้งหมดเป็นแผนงานในปีงบประมาณ 2557

นอกจากนั้น ในมิติของวิกฤตราคายางพารา ท่านเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เคยเสนอไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ว่า การแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ใช้ยางพาราที่ค้างสต๊อกอยู่ มาเป็นส่วนผสมทำถนน 1 สาย เป็นตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะหากใช้ยางพารามาเป็นตัวผสมกับยางมะตอยทำถนนได้ก็จะทำให้ยางที่ค้างสต๊อกอยู่ส่วนหนึ่งสามารถระบายมาใช้ทำถนนได้ ในที่ประชุมวันนี้จึงได้มีการเสนอถนนสาย 410 ช่วง อ.บันนังสตา ถึง อ.เบตง เป็นถนนต้นแบบในพื้นที่ เพราะจากการวิจัยพบว่า ถนนที่ทำจากยางมะตอยผสมยางพารามีความแข็งแรงมากกว่า” รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

ด้านนางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผอ.กลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาการนำยางพารามาผสมยางมะตอยลาดผิวถนนก็ใช้ในอัตราส่วนไม่มาก ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของยางมะตอย แต่คุณสมบัติที่ได้มากขึ้น คือ ถนนมีความแข็งแรงมากขึ้น จุดอ่อนตัวจะสูงกว่าปกติ ทนความร้อนได้มากกว่าเดิมประมาณ 10 องศาเซลเซียส รวมทั้งศึกษาแรงยืดหยุ่นของผิวถนนเมื่อมีรถยนต์มาเหยียบ ก็พบว่ามีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 2.9 เท่า แต่งบประมาณในการดำเนินการก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดจากราคายาง 100 บาทต่อ กก.

“การทำถนนยางพาราผสมยางมะตอย ระยะทาง 1 กม. หน้ากว้าง 11 เมตร จะใช้ยางพารา 3.3 ตัน เพราะถ้าทำเยอะยางที่อยู่ในสต๊อกต่างๆ สามารถนำออกมาทำได้ทั้งหมด และเชื่อว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการยกระดับราคายางพาราด้วย” นางณพรัตน์ กล่าว

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น