xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ารัฐบาลไม่เร่งแก้ไข ชวนสวนจะขายยางได้ต่ำกว่าทุนไปจนข้ามปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
โดย... รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ 
 
กลับจากการดูงานตลาดล่วงหน้ายางพาราที่ญี่ปุ่นร่วมสัปดาห์แล้ว (อยู่ที่ญี่ปุ่นคืนเดียว) มัวแต่ยุ่งๆ อยู่กับการประชุมกรรมาธิการที่สภาฯ ก็เลยไม่ได้ส่งข่าวว่าไปเห็นอะไร และจะเป็นประโยชน์อะไรกับเรื่องยางในบ้านเรา ที่ราคาเอาแต่ลดลงทุกวันบ้าง
 
วันนี้ก็อยู่ที่สภาฯ ทั้งวัน เพราะมีการประชุมกรรมาธิการ ช่วงนี้พอมีเวลาก็อยากขอเรียนว่า ตลาดกลาง หรือ TOCOM (Tokyo Commodities Exchange) ที่ไปดูมานั้น ไม่ได้ซื้อขายล่วงเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างเดียว มีสินค้าที่ไม่ใช่เกษตรหลายตัวที่ซื้อขายล่วงหน้ากันที่ตลาดนี้ด้วย เช่น น้ำมัน ทองคำ ถ่านหิน
 
แต่ตัวที่มากที่สุดคือ ยางพารา โดยเฉพาะยางพาราจากประเทศไทย ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยยางจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม 
 
บริษัทยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจยางพาราในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นเครือข่ายของ TOCOM
 
ตัว TOCOM เองไม่ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคายาง แต่ราคายางจะผันแปรอย่างไร ก็หนีไม่พ้นต้องผ่านกลไกการตลาดของ TOCOM ฟังแล้วคงปวดหัว อย่างที่ผมเองก็ปวดหัวตอนนั่งฟังเขาอธิบาย
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
เอาเป็นว่า ราคายางบ้านเราที่กำลังต่ำกว่าต้นทุนอยู่ในขณะนี้ คือต่ำกว่ากิโลกรัมละ 64 บาท ฟังจาก TOCOM ว่า น่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง อาจจะถึงปีใหม่ก็เป็นได้
 
พี่น้องชาวสวนยางพาราฟังไว้ก็คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และคงไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาวสวนยางที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเท่านั้น ภาคส่วนอื่นๆ ก็จะถูกกระทบไปด้วย เพราะกำลังซื้อจะลดลงค่อนข้างมาก
 
ราคายางอาจลดลงต่ำกว่านี้อีกก็ได้ หากรัฐบาลไม่จัดการให้ดีกับยางพารา 2 แสนกว่าตัน จากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร ซึ่งรัฐได้ใช้เงินไป 2 หมื่นกว่าล้าน ซื้อยางมากองอยู่ในโกดัง 30 กว่าแห่งในขณะนี้
 
และยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับยางจำนวนนี้ 
 
ถ้าหากปล่อยยางจำนวนนี้ออกมาในตลาด ราคายางซึ่งต่ำอยู่แล้วก็อาจต่ำลงไปอีก 
 
กรรมาธิการยางพาราของวุฒิสภา ซึ่งผมเป็นประธานอยู่ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้กำหนดนโยบายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ไปกำหนด spec ให้ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของยางมะตอยในการทำถนน แต่ก็ยังไม่มีผลคืบหน้า
 
นัยว่ายังจัดการไม่ลงตัวในเรื่องผลประโยชน์ที่ทับซ้อน ทั้งๆ ที่ในทางเทคโนโลยีก็มีการทดลอง และได้ผลที่ชัดเจนแล้ว 
 
หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ ก็จะทำให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีที่จะทำให้ราคายางได้ขยับตัวสูงขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศถึง 85% ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ 
 
ซึ่งการซื้อขายยางไปต่างประเทศนี้ ตัวกลาง และตัวการที่สำคัญของกลไกราคาก็คือ ตลาดกลางล่วงหน้า หรือ TOCOM ที่ผมได้บอกเล่าไปแล้ว

เรื่องยางพาราเอาคร่าวๆ ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ จะค่อยๆ นำข่าวจากกรรมาธิการยางพารามาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติม
 
(หมายเหตุ : รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และแนวทางการส่งเสริมการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วุฒิสภา ได้เขียนบอกเล่าไว้ที่เฟซบุ๊ก Prasert Chitapong และมอบให้นำเผยแพร่ใน “ASTVผู้จัดการภาคใต้”)


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น