xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์เตือนไทย,มาเลย์จ่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจตามอินโดนีเซียและอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีหนี้สินสูงและพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในวันนี้ ในขณะที่แรงเทขายสกุลเงิน รูเปียห์ของอินโดนีเซียและรูปีของอินเดียอาจจะลุกลามออกไปยังประเทศอื่นๆในเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อาจได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต
        ความกังวลเกี่ยวกับยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ระดับสูงมากใน อินโดนีเซีย ส่งผลให้ตลาดหุ้นกับค่าเงินรูเปียห์ดิ่งลงอย่างรุนแรงในสัปดาห์นี้ และขณะนี้นักลงทุนก็มองว่ามาเลเซียและไทยคือสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด
        นายประทีป โมฮินานี นักวิเคราะห์เครดิตของบริษัทโนมูระ  กล่าวว่า "สถานการณ์ในขณะนี้มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับวิกฤตการณ์ในปี 1997-1998 โดยขณะนี้มีสองประเทศที่ได้รับความเสียหายแล้ว ซึ่งได้แก่อินเดียกับอินโดนีเซีย ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นคิดว่า ประเทศใดที่จะได้รับความเสียหายเป็นประเทศที่ 3  และประเทศที่ 4"
        "ประเทศที่มีแนวโน้มได้รับความเสียหายสูงคือประเทศที่มียอดขาดดุลงบประมาณสูง, มีเศรษฐกิจชะลอตัว และต่างชาติครองสัดส่วนสูงในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งไทยกับมาเลเซียมีคุณสมบัติเหล่านี้มากที่สุด"
        นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ไทย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะปั่นป่วนในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจาก 3 ประเทศนี้มีดุลต่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอินโดนีเซียและอินเดียเป็นอย่างมาก
        ประเทศในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก และได้ลดหนี้สกุลเงินต่างประเทศลงมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997 เป็นต้นมา
        อย่างไรก็ดี สกุลเงินของประเทศกลุ่มนี้ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบหลายเดือน และอาจได้รับแรงกดดันต่อไปในอนาคต ในขณะที่นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ ลงจากระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในปัจจุบัน
        ไทยเริ่มมีแนวโน้มอ่อนแอ หลังจากยอดส่งออกดิ่งลง และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงเกินคาดในไตรมาส 2 โดยไทยมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5.1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 หลังจากมียอดเกินดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก
        นายกุนดี คาห์ยาดี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร OCBC กล่าวว่า  "เนื่องจากไทยมีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดตกต่ำลง เราก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน อย่างไรก็ดี เราคิดว่า ความเสี่ยงของไทยอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ในปัจจุบัน"  
        นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเมื่อวานนี้ว่า เขาไม่กังวลกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีในขณะนี้ โดยมองว่าค่าเงินบาทยังสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ     
        ผู้ว่าการธปท.กล่าวด้วยว่า ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในครึ่งปีแรกไม่มากนัก และคาดว่าจะแตกต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย  
        "ไม่ใกล้อินโดฯ เราไม่มีเหตุผลพวกนั้น ด้านนโยบายของเรา  มหภาค ก็มีความเชื่อมั่น" นายประสารกล่าว  
        มาเลเซียจะเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงบ่ายวันนี้ โดยตลาดคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียอาจเติบโตขึ้น 4.9 % ในไตรมาส 2 หลังจากขยายตัว 4.1 % ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ตลาดคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของมาเลเซียอาจจะตกต่ำลง และปัจจัยดังกล่าวเคยเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีแรงเทขายเข้ามาในตลาดการเงินหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอินเดียและบราซิล
        การดิ่งลงของยอดส่งออกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้มาเลเซีย มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะถือเป็นยอดขาดดุลครั้งแรกในรอบ 16 ปี
        นายเอ็ดเวิร์ด เทเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารยูบีเอสกล่าวว่า  ยอดขาดดุลของมาเลเซียจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายของมาเลเซียให้คุมเข้มนโยบายการเงิน และให้ปฏิรูปการคลัง แต่เขามองว่า มาเลเซียเผชิญความเสี่ยงน้อยกว่าอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก
        นายเทเธอร์กล่าวว่า "เคยมีเงินลงทุนไหลออกจากมาเลเซียเป็นจำนวนมากในปี 2008 และทางการมาเลเซียก็รับมือกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ระบบการเงินของมาเลเซียมีความซับซ้อนสูง"
        มาเลเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยอดเกินดุลการค้าของมาเลเซียเคยดิ่งลงในเดือนเม.ย. จนแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 1997 นอกจากนี้  นักลงทุนยังมองว่ามาเลเซียเผชิญความเสี่ยงจากการที่ชาวต่างชาติถือครองตราสารหนี้เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศด้วย
        หนี้สินทั้งในภาคครัวเรือนและภาครัฐบาลของมาเลเซียพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การปฏิรูปการคลังในมาเลเซียหยุดชะงักลง  หลังจากผลการเลือกตั้งที่สูสีกันในเดือนพ.ค.ส่งผลให้สถานะของนายก รัฐมนตรีมาเลเซียอ่อนแอลง
        สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 3 ปีที่ 3.3 ริงกิต ต่อดอลลาร์เมื่อวานนี้ และรูดลงมาแล้วกว่า 7 % จากช่วงต้นปีนี้ ในขณะที่เทรดเดอร์ประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซียได้ใช้เงินไปแล้วราว 1.3 พันล้านดอลลาร์ในการปกป้องค่าเงินริงกิตในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
        แรงเทขายได้ลุกลามออกไปสู่ตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์เมื่อวานนี้ด้วย  และส่งผลให้ดัชนีคอมโพสิตของตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์ดิ่งลง 1.85 %  ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วตลาดหุ้นแห่งนี้ถือเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในภูมิภาคนี้
        ฟิทช์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้มาเลเซียในเดือนก.ค. โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมาตรการปฏิรูปทางการคลังของมาเลเซียมีแนวโน้มที่ย่ำแย่ลง โดยมาตรการเหล่านี้รวมถึงการปรับลดเงินอุดหนุนจำนวนมากของรัฐบาล และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อลด การพึ่งพารายได้จากน้ำมัน
        นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซียอาจจะเผชิญกับการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคการเมืองของเขาเองในเดือนต.ค. และปัจจัยนี้ ทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่านายราซัคจะทำตามสัญญาของเขาได้หรือไม่ โดยเขาได้ให้สัญญาว่าจะปรับลดขนาดยอดขาดดุลงบประมาณของมาเลเซียลงจากระดับ 4.5 % ของจีดีพี
        ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า มาเลเซียจะยังคงมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไป แต่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงสู่ 8.7 พันล้านริงกิตในไตรมาสแรก จาก 2.28 หมื่นล้านริงกิตในไตรมาส 4/2012 และสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามาเลเซียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการไหลออกของเงินทุน
        ต่างชาติเทขายตราสารหนี้มาเลเซียในช่วงที่ผ่านมา โดยปรับลดมูลค่าการถือครองลงสู่ 1.38 แสนล้านริงกิตในเดือนมิ.ย. จาก 1.45 แสนล้านริงกิตในเดือนพ.ค.
        ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นภูมิภาคที่ได้รับความนิยมสูงจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะเศรษฐกิจภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตสูง, จำนวนชนชั้นกลางพุ่งสูงขึ้น และสถานการณ์คลังของประเทศ ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้ยังคงมีอยู่ ในปัจจุบัน และน่าจะช่วยปกป้องประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้จากการไหลออกอย่างต่อเนื่องของเงินทุนต่างชาติ
        นายจิมมี โกห์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารยูโอบีกล่าวว่า "ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และปัจจัยนี้จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการไหลออกของสภาพคล่อง"
        "บริษัทและสถาบันการเงินในเอเชียได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่งบดุลของตน และมีสัดส่วนการใช้เงินกู้ที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นภาคเอกชนเอเชียจึงมีความสามารถมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับความผันผวนในตลาด"
        ตลาดการเงินฟิลิปปินส์เผชิญความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโต 7.8 % ต่อปีในไตรมาสแรก และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของฟิลิปปินส์ได้รับแรงหนุนจากเงินจำนวนมากที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนส่งกลับเข้ามาในประเทศ
        ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นมะนิลาพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 12 % จากช่วงต้นปีนี้ และถือเป็นตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นมากเป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรองจากเวียดนาม โดยนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิหุ้นฟิลิปปินส์เป็น มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้
        นายไมเคิล แวน นักเศรษฐศาสตร์ของเครดิต สวิส กล่าวว่า "ในแง่ ของวัฏจักรธุรกิจนั้น ฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นของช่วงขาขึ้น โดยฟิลิปปินส์เข้าสู่ช่วงขาขึ้นในเวลาที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงช้ากว่า อินโดนีเซียและไทย"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น