xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ยกร่างคู่มือรับจดสิทธิบัตรยา ดัดหลังบริษัทหัวหมอขอคุ้มครองไม่จบไม่สิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ดัดหลังบริษัทยาหัวหมอยื่นจดสิทธิบัตรไม่มีวันตาย เตรียมยกร่างคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา หวังใช้สกัดพวกมั่วนิ่ม อ้างปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ แล้วขอขยายเวลาคุ้มครอง ยันจะช่วยให้การตรวจสอบสิทธิบัตรยาทำได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ราคายาถูกลง

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา เพื่อใช้เป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการรับคำขอ และตรวจคำขอสิทธิบัตรยา หลังจากที่ผ่านๆ มามักจะมีผู้ฉวยโอกาสยื่นคำขอสิทธิบัตรยาเดิมที่ใกล้หมดอายุ โดยอ้างว่ามีการปรับปรุงพัฒนายาใหม่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแทบจะไม่ได้มีการพัฒนาอะไรใหม่เลย แล้วมายื่นขอจดสิทธิบัตรเพื่อขยายการคุ้มครองออกไป

ทั้งนี้ กรมฯ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว 5 ครั้ง ทั้งฝ่ายผู้ผลิต ผู้ใช้ เอ็นจีโอ และนักวิชาการ รวมทั้งมหาวิทยาลัย 4 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาร่วมให้ข้อมูลและแนวทางในการยกร่างคู่มือตรวจคำขอสิทธิบัตรยาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสรุปแนวทางได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับหลักเกณฑ์ในการตรวจคำขอสิทธิบัตรยาจะกำหนดเกณฑ์ในการตรวจสอบเคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การปรับปรุงยาในด้านที่กำหนด ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของกฎหมายสิทธิบัตรหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่ขัดข้องที่จะอนุมัติให้จดสิทธิบัตร แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะไม่อนุมัติให้จดหรือขยายการจดสิทธิบัตรยาดังกล่าวออกไป

“การมีคู่มือจะช่วยให้การตรวจสอบสิทธิบัตรยาทำได้เร็วขึ้น เพราะมีแนวทางเดียวที่จะใช้สำหรับการรับคำขอจดสิทธิบัตรยาทั้งหมดไม่ว่าใครจะยื่นจด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผู้ผลิตยาก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขัดขวางในการจดสิทธิบัตร เพราะหากเป็นของใหม่จริงยังไงก็ต้องได้รับการจดอยู่แล้ว ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์ในแง่การเข้าถึงยาที่จำเป็นจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะยาบางชนิดที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่มักจะมีราคาแพง แต่ถ้าสิทธิบัตรหมดอายุ และผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่เดิมมักจะใช้ช่องว่างในการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรใหม่ โดยอ้างว่ามีการปรับปรุงยาเล็กน้อย ก็จะทำไม่ได้ และจะทำให้ยามีราคาถูกลง และการเข้าถึงยาก็จะทำได้ง่ายขึ้น” นางปัจฉิมากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น