xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 01/08/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • สนง.สถิติของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในยูโรโซนซึ่งมีสมาชิก 17 ประเทศลดลงมาอยู่ที่ 19.27 ล้านคนในเดือน มิ.ย.จากเดิม19.29 ล้านคนในเดือน พ.ค. ในขณะที่อัตราว่างงานยังทรงตัวที่ 12.1% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2554 ที่จำนวนผู้ว่างงานลดลง นอกจากนี้ เงินเฟ้อเบื้องต้นในเดือน ก.ค.ก็ยังทรงตัวเท่าเดือนก่อนที่ 1.6%ซึ่งต่ำกว่าเพดานเงินเฟ้อ 2% ของ ธ.กลางยุโรปมา 6 เดือนแล้ว จึงเปิดช่องให้ ธ.กลางยุโรปสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ในขณะที่ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

  • การใช้จ่ายของผู้บริโภคฝรั่งเศสในเดือน มิ.ย.ลดลง 0.8% จากเดือน พ.ค. และลดลง 0.5% เมื่อเทียบรายปี โดยใช้จ่ายลดลงมากในด้านพลังงานเนื่องจากอากาศอุ่นขึ้น หลังจากที่หนาวเย็นในเดือน พ.ค.ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.3% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จึงผลักดันการใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้น

  • อัตราว่างงานโดยรวมของอิตาลีในเดือน มิ.ย.ลดลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 12.1% จาก 12.2% ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ อัตราว่างงานของกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 39.1% และเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • GDP สเปนลดลง 0.1% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และลดลง 1.7% เมื่อเทียบรายปี โดยหดตัวลงเพราะอุปสงค์ภายในประเทศลดลงจากการลดลงของเงินเดือนกับอัตราว่างงานที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงบางส่วนได้รับการชดเชยจากการส่งออก

  • ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือน มิ.ย.ลดลง 1.5% จากเดือน พ.ค. และลดลง 2.8% เมื่อเทียบรายปี โดยผู้บริโภคบางส่วนชะลอการใช้จ่ายลงเพราะฝนตกหนักในช่วงต้นเดือน ทั้งนี้ ข้อมูลยอดค้าปลีกที่อ่อนตัวลงนี้สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ก่อนหน้าว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่สดใสจะช่วยหนุนยอดค้าปลีกของประเทศ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของเยอรมนีในเดือน ก.ค.ลดลง 7,000 ราย ลดลง 2 เดือนติดต่อกันแล้ว ส่วนอัตราว่างงานยังทรงตัวที่ 6.8% แสดงว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวมากขึ้น หลังจากที่ซบเซาในช่วงต้นปี

  • บริษัทวิจัย GfK เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวอังกฤษมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแตะระดับ -16 ในเดือน ก.ค. จากระดับ -21 ในเดือน มิ.ย. โดยชาวอังกฤษมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบ 3 ปีจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงยังมีมุมมองบวกต่อฐานะการเงินส่วนบุคคลและแนวโน้มเศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้สมาคมค้าปลีกอังกฤษ รายงานว่า ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในเดือน ก.ค. สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เป็นบวกมากขึ้น

  • .พาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 1.7% (สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.1%) จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งการขยายตัวที่ดีกว่าคาดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ FED ชะลอมาตรการกระตุ้นทางการเงินได้เร็วขึ้น นอกจากนี้บริษัทวิจัยตลาดแรงงานในสหรัฐ ADP ได้เปิดเผยว่า ภาคเอกชนทั่วสหรัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น200,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 180,000 ตำแหน่ง

  • ผลสำรวจของมาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของญี่ปุ่นลดลงไปอยู่ที่ 50.7 ในเดือน ก.ค.จาก 52.3 ในเดือน มิ.ย. เพราะผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัว รวมถึงการจ้างงานลดลง แต่การที่ดัชนียังอยู่เหนือระดับ 50 ทำให้เห็นการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ซึ่งได้ขยายตัวได้ 5 เดือนต่อเนื่องกัน

  • ก.แรงงานสิงคโปร์ ระบุว่า อัตราว่างงานขยับขึ้น 2.1% ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในเดือน มี.ค. และ 1.8% ในเดือน ธ.ค. โดยความตึงตัวของตลาดแรงงานได้ผ่อนคลายลงในไตรมาส 2  ขณะที่มีการเลิกจ้างมากขึ้นอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างและการควบรวมธุรกิจ

  • ธปท.รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 49.9 ซึ่งใกล้เคียงระดับ 50 ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอันทรงตัวจากเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นในเกือบทุกด้านปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นด้านคำสั่งซื้อที่ลดลงครั้งแรกในรอบครึ่งปีหากไม่นับเดือน เม.ษ.ที่มีปัจจัยฤดูกาลและการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของการบริโภคและส่งออกในเดือนนี้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 53.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านต้นทุน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้ที่คาดว่าภาวะธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นกลับมีจำนวนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธปท.ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ว่าจะเติบโตต่ำกว่า 4% แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 จะไม่ชะลอลงไปจากไตรมาสที่ผ่านมา




  • SET Index ปิดที่ 1,423.14 จุด ลดลง 12.30 จุด หรือ 0.86% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 42,544 ล้านบาท โดยดัชนีปรับตัวลงจากบรรยากาศการลงทุนรอบเอเชียที่ค่อนข้างเป็นลบ รวมถึงความกังวลด้านการเมืองหลังรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 3 เขตของ กทม. แต่ยังปิดตัวโดยดีดขึ้นมาจากจุดต่ำสุดของวันที่ -32 จุดได้ สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาคือวาระเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค. โดยผู้ลงทุนยังคงกังวลกับการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในวันที่ 4 ส.ค.และการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในวันที่ 7 ส.ค.




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยมีการเปลี่ยนแปลง -0.01% ถึง +0.09% สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูล




  • Warren Buffet 


   “การลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวเกินไปเป็นผลเสีย เพราะการกระจายการลงทุนมากเกินไปเพื่อลดความเสี่ยง จะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้ นักลงทุนต้องทำการบ้าน เกี่ยวกับธุรกิจก่อนที่จะลงทุน และเมื่อมั่นใจในธุรกิจแล้ว นักลงทุนต้องมั่นใจในการตัดสินของตน   และลงทุนในสัดส่วนที่ใจกล้าพอ”
    กองทุนบัวหลวง : “หากเจอแล้วว่าตัวไหนดีจริงๆ เชื่อมั่นจริงๆ แล้วทำไมจะต้องแบ่งเงินไปลงทุนในตัวที่เราเชื่อมั่นน้อยเพื่อลดความเสี่ยงไปตามทฤษฎีการลงทุนที่เรียนกันมาล่ะ เพราะหากเชื่อมั่นน้อยมันก็คือความเสี่ยงสูงไม่ใช่หรือ”
กำลังโหลดความคิดเห็น