- ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 92.5 จุดจากเดิม 91.3 จุดในเดือน มิ.ย. เป็นสัญญาณที่ดีขึ้นสำหรับยูโรโซน หลังจากเผชิญกับภาวะถดถอยยาวนาน ซึ่งการขยายตัวนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในขณะที่ข้อมูลของสเปนชี้ว่าภาวะถดถอยได้คลี่คลายลงแล้วในไตรมาส 2
- บริษัทวิจัย GfK รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีในเดือน ส.ค.ว่าเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี โดยอยู่ที่ 7.0 เพิ่มขึ้นจาก 6.8 ในเดือน ก.ค. ด้วยปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการจ้างงานที่ดีและอัตราเงินเฟ้อระดับปานกลาง นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ว่าภาคการบริโภคของเยอรมนีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในปีนี้ แม้ว่าการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนจะยังซบเซา ทั้งนี้ การบริโภคภาคประชาชนมีสัดส่วนประมาณ 50% ของ GDP เยอรมนี
- IMF อนุมัติเงินกู้งวดใหม่วงเงิน 2.3 พันล้านดอลลาร์ให้กับกรีซ ซึ่งจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากภาระผืดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่เตือนว่าแผนการปฏิรูปของกรีซมีความคืบหน้าล่าช้าเกินไป และแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
- S&P/Case Shiller รายงานว่า ดัชนีราคาบ้านสหรัฐในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 7 ปี แสถงว่าตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นยังน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.4% ทั้งนี้ต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำ อุปทานที่ขาดแคลน และตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น
- ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 2.70 แสนเยนต่อเดือน ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 2.0% ไปอยู่ที่ 7.28 แสนเยน/เดือน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวญี่ปุ่นที่ยังให้ความสำคัญกับการออม ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีสัดส่วนประมาณ 60% ของ GDP ญี่ปุ่น
- อัตราว่างงานของญี่ปุ่นลดลงไปอยู่ที่ 3.9% ในเดือน มิ.ย. ลดลงต่ำกว่า 4% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี 8 เดือน โดยจำนวนผู้ว่างงานลดลงไป 160,000 รายจากเดือนก่อนหน้าไปอยู่ที่ 2.54 ล้านราย เนื่องจากบริษัทจ้างงานเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะบริษัทในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต นำโดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 220,000 ตำแหน่ง
- รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2556 (สิ้นสุดมี.ค. 57) ขึ้นสู่ 2.8% จากเดิม 2.5% เนื่องจากนโยบาย "อาเบะโนมิคส์" ช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ และคาดว่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ 1.0% ในปีงบประมาณหน้า เนื่องจากแผนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ในเดือน เม.ย.ปี 2557 ซึ่งจะกดดันการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งมีการประกาศใช้จะเริ่มส่งผลลดลง
- ธนาคารกลางจีน อัดฉีดเงินเข้าระบบ 1.7 หมื่นล้านหยวน (2.8 พันล้านดอลลาร์) เพื่อคลี่คลายปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวจนทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย R/P 7 วัน ลดลงเหลือ 4.97% จากที่ขึ้นไปสูงกว่า 5% เมื่อวันก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์
- รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาแผนยกเลิกการผลิตที่ล้าสมัยของโรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ อิเล็กทรอไลติก อลูมิเนียม กระจกแผ่น และ อุตสาหกรรมการต่อเรือ เพื่อช่วยลดต้นทุนที่สูงเกินไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อิเล็กทรอไลติก และเหล็กในปีก่อนอยู่ที่ 72.5% 78% และ 67% ตามลำดับ
- ราคาที่ดินในเมืองใหญ่ของจีนปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 โดยราคาที่ดินเฉลี่ยใน 105 เมืองสำคัญของจีนอยู่ที่ 3,226 หยวน/ตรม. เพิ่มขึ้น 5.11% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.62% จากไตรมาส 1 ส่วนราคาที่ดินเฉลี่ยสำหรับบ้านพักอาศัยอยู่ที่ 4,799 หยวน/ตรม. เพิ่มขึ้น 6.13% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 2.06% จากไตรมาสก่อน
- ธนาคารกลางอินเดีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 7.25% เนื่องจากนทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นไปแล้วก่อนหน้า จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อการประชุมวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา จะช่วยบรรเทาการอ่อนค่าลงของเงินรูปีได้
- สศอ. รายงานว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย.หดตัวลง 3.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ดัชนี MPI ในไตรมาส 2 หดตัวลง 5.2% จากไตรมาส 2 ปีก่อน ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่าการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปีนี้จะอยู่ที่ 3.0 - 4.0% และ MPI จะขยายตัว 0.5 - 1.0%
- SET Index ปิดที่ 1,435.44 จุด ลดลง 18.84 จุด หรือ 1.30% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 31,201 ล้านบาท โดยปรับตัวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่กลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายตลาด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะปัจจัยกดดันทางการเมืองเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ อีกทั้งปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางก็ทำให้ความผันผวนเพิ่มมากขึ้น
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดย +0.00% ถึง +0.09% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรัฐบาลอายุ 15 ปีและ 30 ปี รวม 10,000 ล้านบาท