xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 11/07/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถืออิตาลีลงจาก BBB+ เป็น BBB (สูงกว่าระดับขยะหรือ Junk เพียง 2 อันดับ) พร้อมกับให้มุมมองเชิงลบ หลังคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกับภาคการเงิน พร้อมทั้งลดประมาณการ GDP อิตาลีปีหน้าลงจากเดิม -1.4% เป็น -1.9% โดยระบุว่าการใช้มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีตกต่ำ และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะถดถอยต่อไป ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับสูงสุดนับแต่ปี 1977

  • IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจสเปนปีหน้าโดยให้ขยายตัว 0% จากเดิมที่คาดว่าจะเป็น 0.7%ขณะที่ในปีนี้จะมีเพียงอิตาลีที่แย่กว่าสเปน โดยเศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว -1.8% เมื่อเทียบกับสเปนที่คาดว่าจะหดตัว -1.6%

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสเดือน พ.ค.ลดลง 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน เม.ย. เนื่องจากผลผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมถ่านโค้กและโรงกลั่นน้ำมันลดลง ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์และการผลิตกระแสไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้น

  • เยอรมนี รับว่าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากไปอาจส่งผลต่อภาคธุรกิจในประเทศ เนื่อง จากที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออกไปจีนและเอเชียมาโดยตลอด ทั้งนี้ ยอดส่งออกเดือน พ.ค.ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2009 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ปรับลดลง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างยากลำบาก แม้การเพิ่มขึ้นของการนำเข้าจะบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ดีขึ้นในประเทศก็ตาม

  • ผลสำรวจ PMI ชี้ว่า การขยายตัวในภาคการผลิตของจีนยังคงอ่อนแอลงในเดือน มิ.ย. ขณะที่การส่งออกลดลง 3.1%จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ ม.ค.2012 โดยการส่งออกไปยังสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีนลดลง 5.4% ในเดือน มิ.ย.จากปีก่อน และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 8.3% แสดงว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างชะลอตัว

  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันของจีนในเดือนมิ.ย.ลงเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันทั่วโลกในปีนี้อาจต่ำกว่าที่คาดเนื่องจากอุปสงค์น้ำมันของจีนมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นราว 790,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้

  • ยูบีเอสเอจี คาดว่า จีนจะปล่อยให้หยวนอ่อนค่าลงในครึ่งหลังของปีนี้เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออก หลังยอดส่งออกเดือน มิ.ย. ลดลงมากที่สุดนับแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก

  • นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า BOJ จะยังคงวงเงินมาตรการซื้อหลักทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิมในปีนี้ หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมผลกระทบจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้น 1.9% ในปีงบประมาณที่เริ่มต้นเดือน เม.ย.ปี 2015

  • ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย.ลดลงเป็นครั้งแรกใน 6 เดือน เนื่องจากตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตราที่ผันผวนได้ส่งผลกระทบทางลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ

  • เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เริ่มเจรจารื้อฟื้นโรงงานที่ถูกทิ้งร้างในนิคมอุตสาหกรรมร่วม แกซองซึ่งเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายแห่งความปรองดองข้ามพรมแดนอีกครั้ง โดยเกาหลีใต้ต้องการให้เกาหลีเหนือมีมาตรการปกป้องบริษัทและต้องคุ้มครองทรัพย์สินจากการตัดสินใจปิดแกซอง และให้รับปากถึงมาตรการคุ้มครองการเข้าออกนิคมฯ โดยเสรีด้วย

  • ธปท. เตรียมลดเป้า GDP ไทยจากเดิมที่คาดว่าจะ +5.1% เหลือต่ำกว่า 5% และคาดว่าการส่งออกปีนี้จะลดลงจากที่คาด ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงทั้งด้านการบริโภค การลงทุน การทยอยหมดลงของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ กับการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

  • สภาพัฒน์ฯ เตรียมประชุมเชิงปฏิบัติการวันศุกร์นี้เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงและหามาตรการเร่งการส่งออก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 3.9% ต่ำกว่าที่คาดว่าจะเติบโต 6.0% และยังคาดว่าจะชะลอลงในไตรมาส 2 โดยน่าจะขยายตัว 1.8% ในเดือน เม.ย.และหดตัว 0.2% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน




  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ปิดที่ระดับ 2,008.13 จุด เพิ่มขึ้น 42.67 จุด หรือ +2.17 % โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือน หลังนักลงทุนคาดว่า รัฐบาลอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากยอดส่งออกเดือนมิถุนายนลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

  • ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น คาดว่า จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 70 แห่งในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังตลาดหุ้นได้แรงหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จนทำให้ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้น 40% ในปีนี้ และกระตุ้นให้นักลงทุนต้องการนำหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนมากขึ้น

  • SET Index ปิดที่ 1,388.41 จุด ลดลง 10.28 จุด หรือ -0.73% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 46,105.10 ล้านบาท โดยดัชนีลดลงหลังจากมีความกังวลเรื่องการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE)ซึ่งรายละเอียดจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมของ FED ช่วงสิ้นเดือนนี้ รวมทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประชุม ธ.กลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 10-11 ก.ค.นี้  ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค

  • สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ลดคาดการณ์ดัชนีสิ้นปีนี้เหลือ 1,569 จุด จากเดิม 1,625 จุด ซึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว การเตรียมลดและยกเลิกมาตรการQE ของสหรัฐ อีกทั้งความเสี่ยงในเรื่องการเมืองไทย พร้อมปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือ +4.6% จากเดิม +4.9% ส่วนปีหน้าก็ลดคาดการณ์จาก 5.0% ลงเป็น 4.8%

  • ฟิทช์ เรทติ้งส์  ชี้ว่า ธ.ต่างประเทศโดยเฉพาะจากเอเชียแปซิฟิคกำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบธนาคารไทย และจากกรณีที่ ธ. โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) แสดงความจำนงในการซื้อหุ้น BAY 75% จะส่งผลให้สัดส่วนของธ.ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 26% ของสินทรัพย์รวมของ ธ.พาณิชย์ในประเทศไทย จากเดิมที่เป็น 18% และจะส่งผลให้ BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในไทย นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีแรกที่มีการอนุมัติให้ต่างประเทศถือหุ้นในธนาคารไทยได้เกิน 49%




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในช่วง -0.01% ถึง 0.00% ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 67,990 ล้านบาท ทั้งนี้ กนง. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่2.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศน่าจะกลับมาขยายตัวปกติในระยะต่อไป เพราะปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น การจ้างงานและรายได้ของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการเงินการคลังที่ยังผ่อนคลาย สะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศได้ ขณะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในช่วงปรับตัว และมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ต้องติดตาม

  • ธ.กลางจีนหลีกเลี่ยงภาวะสภาพคล่องตึงตัว โดยชะลอการขายตั๋วเงินระยะสั้นเพื่อดูดซับสภาพคล่องมาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่10.77% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอาร์พีระยะ 7 วันในจีนลดลงมาอยู่ที่ 3.59% ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์


กำลังโหลดความคิดเห็น