xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 28/06/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • สหภาพยุโรป (EU) บรรลุข้อตกลงในการใช้มาตรการ “Bail-in” โดยให้ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ที่มีเงินฝากสูงกว่า 100,000 ยูโร ร่วมแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของธ. พาณิชย์ในอนาคต โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2018 ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในภาคธนาคารและเป็นการคุ้มครองผู้เสียภาษีทั่วยุโรปหลังจากที่ EU ได้ดำเนินมาตรการ Bailout โดยใช้เงินของผู้เสียภาษีในระดับที่มากถึง 1 ใน 3 ของ GDP ของยุโรปเพื่อกอบกู้กิจการธ.พาณิชย์ในช่วงระหว่างปี 2008-2011

  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 91.3 จุดจาก 89.5 จุดในพ.ค. สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจยูโรโซนที่ดีขึ้น

  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของเยอรมนีในเดือนมิ.ย. ลดลง12,000 รายสู่ระดับ 2.943ล้านราย  ในขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ 6.8% ซึ่งใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการรวมชาติเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน บ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น

  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวเพียง 0.6% ในปีนี้เนื่องจากการชะลอตัวของ GDP ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนที่ดีขึ้นประกอบกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของยูโรโซนจะส่งผลบวกให้ GDP ของเยอรมนีสามารถขยายตัวที่ระดับ 1.6% ในปีหน้า

  • ตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2556 ของอังกฤษถูกปรับลดลงเป็นขยายตัว 0.3% ต่อปี จากเดิม 0.6% โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากการที่ระดับรายได้ของครัวเรือนลดลงถึง 1.7% ซึ่งเป็นอัตราการลดที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2530

  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. ลดลง 9,000 ราย มาอยู่ที่ 346,000 ราย สะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากการที่ประชาชนมีงานทำจะส่งผลให้ระดับอุปสงค์เติบโตอย่างมั่นคง

  • การใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% โดยได้ปัจจัยหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสนี้จะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐ

  • เอเชียพลัส คาดว่า Fed จะทำการปรับลดขนาดมาตรการ QE ตามที่ นายเบน เบอร์นันเก้ ได้ชี้นำไว้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP ของสหรัฐจากการทบทวนครั้งที่ 3 ที่ระดับ 1.8% จะออกมาน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่ World Bank และ IMF คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1.9% มากนัก     อีกทั้ง ปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ FOMC มากที่สุดคือ การจ้างงานและตลาดบ้าน ซึ่งแสดงพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับโดยนักลงทุนควรติดตามข้อสรุปในการประชุม FOMC ครั้งถัดไปในวันที่ 30-31 ก.ค.56

  • กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนพ.ค. ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 15.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 4.7055 แสนล้านหยวน นำโดยอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวกสำหรับเศรษฐกิจจีน

  • ก.คลังเกาหลีใต้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปีนี้เป็น 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่ภาคส่งออกจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้

  • สนง. เศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย ในปีนี้เป็น 4.5% หรือโตในกรอบ 4.0-5.0% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4.8% ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในประเทศชะลอตัวลง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% ได้แก่ 1.) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนของภาครัฐ 2.) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของก.พาณิชย์ 3.)กระตุ้นการท่องเที่ยวแก่ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น

  • สภาพัฒน์ เตรียมปรับลดประมาณการ GDP ไทยจากเคยประเมินไว้ที่ 4.2-5.2%  จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาด ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเชื่อว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 1 ที่ระดับ 5.3% จะเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นของปีนี้




  • SET Index ปิดที่ 1,446.45 จุด เพิ่มขึ้น 22.07 จุด หรือ +1.55% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 61,930.76 ล้านบาท  โดยดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนในระหว่างวัน เป็นการปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตลาดในภูมิภาคหลังความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องตึงตัวของจีนเริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับนักลงทุนคลายความวิตกในเรื่องที่ Fed จะลดขนาดมาตรการ QE หลังจาก GDP ของสหรัฐในไตรมาส 1/2556 ในการทบทวนตัวเลขครั้งที่ 3 ถูกปรับลดลงมาเหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.4%




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงตราสารอายุ 3 ปีขึ้นไปประมาณ -0.01% ถึง -0.10% ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 99,562 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร

  • สศค. เปิดเผยว่าภาวะการอ่อนค่าของเงินบาทที่เกิดจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในช่วงนี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากสหรัฐยังคงดำเนินมาตรการ QE อยู่ และการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่ชัดเจนถึงแม้จะมีสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะไม่รวดเร็วและรุนแรงจนกระทบกับภาคการส่งออกของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น