xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 03/05/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ยูโรสแตท รายงานว่า อัตราว่างงานของยูโรโซนเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.2% เป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่องจากระดับ 12.1% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 95,000 คน  ส่งผลให้มีคนตกงานในยูโรโซนจำนวนทั้งสิ้น 19.38 ล้านคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มในยูโรโซนอยู่ที่ 1.4% ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในเดือน เม.ย. แต่ยังต่ำกว่ากรอบ 2% ของธนาคารกลางยุโรป

  • หอการค้าอังกฤษ (BCC) เพิ่มคาดการณ์ GDP อังกฤษในปีนี้ว่าจะขยายตัว 0.9% จากเดิมที่คาดเป็น 0.6% และได้เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีหน้าเป็น 1.9% จากเดิม 1.7% โดยเพิ่มการปรับประมาณการจากแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี BCC เตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจยูโรโซนที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 58.7 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี โดยน่าจะเป็นผลจากผู้บริโภคสหรัฐที่จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจึงช่วยให้ภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

  • รอยเตอร์/ม.มิชิแกน รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 84.5 จุด จาก 76.4 จุดใน้ชเดือนก่อน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปีนับตั้งแต่ ก.ค. 2550 โดยการที่ดัชนีตลาดหุ้นและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

  • โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เตือนว่า ญี่ปุ่นจะต้องเตรียมแผนการเพื่อบรรเทาผลกระทบของการขึ้นภาษีการบริโภคที่จะมีขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะขึ้นอัตราภาษีการบริโภคจากปัจจุบัน 5% เป็น 8% ในเดือนเ ม.ย.ปี 57 และจะปรับเป็น 10% ในเดือนต.ค.58 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาลยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือน เม.ย. ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้ว โดยเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าและความต้องการรถยนต์โดยสารในอเมริกาเหนือช่วยกระตุ้นยอดส่งออกของกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ก.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น คาดว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะทรงตัวในเดือน พ.ค. และจะลดลง 1.4% ในเดือน มิ.ย.

  • สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) รายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนอยู่ที่ 50.8 จุด ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจาก 50.6 จุดในเดือน เม.ย. ดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันแล้วที่ดัชนี ยืนเหนือ 50 จุด บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

  • เศรษฐกิจอินเดียในปีงบประมาณ 2555-2556 (สิ้นสุด 31 มี.ค.56) ขยายตัว 5% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปีจากผลผลิตที่ย่ำแย่ในภาคการเกษตรและภาคการผลิต แต่เมื่อดูเป็นรายไตรมาส จะพบว่าไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 4.8% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 4.7% ในไตรมาส 3

  • กลุ่มโอเปค คงโควต้าการผลิตน้ำมันไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษกิจโลกจะอยู่ที่ 3.2% ในปีนี้ และคาดว่า ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกปีนี้จะอยู่ที่ 89.7 ล้านบาร์เรล/ เพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่า อุปทานน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคจะเพิ่มขึ้น1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ และปัจจัยพื้นฐานในตลาดน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะอ่อนแอลงเล็กน้อย

  • ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.ว่า ชะลอลงเนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง ส่วนการส่งออกยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.7 % เป็นอัตราที่ชะลอลงตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ แต่รายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังดีอยู่ ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 1.1 % เนื่องจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งการก่อสร้าง ชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวไปมากในช่วงก่อนหน้า ด้านมูลค่าการส่งออกขยายตัว 3.7% ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกส่วนภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวคือด้านการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 21.6%

  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 5.0% จากการลงทุนภาครัฐและการส่งออกที่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% โดยมีปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นแม้จะส่งผลให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นแต่ก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปจากกระแสเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายทั่วโลกและแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทยจะยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ




  • SET Index ปิดที่ 1,562.07 จุด ลดลง -19.25 จุด หรือ -1.22% ด้วยมูลค่าซื้อขายสูงถึง 75,638 ล้านบาท โดยดัชนีลดลงต่อเนื่องตามตลาดหุ้นอื่นในต่างประเทศ และมีแรงขายสูงในหุ้นขนาดใหญ่เกือบทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มสื่อสาร กลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจที่อิงกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบินหรือโรงแรม สามารถปรับตัวขึ้นสวนตลาดได้

  • ดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐปรับตัวลดลงมากกว่า 1% จากความกังวลว่าเฟดอาจะลดการผ่อนคลายเชิงปริมาณเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในวันศุกร์นั้นค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นเพราะการขายทำกำไรในตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามาก




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วง -0.01 ถึง +0.01% ชะลอตัวลงจากที่อัตราผลตอบแทนได้ปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงขายของนักลงทุนที่มีความกังวลว่า เฟดอาจจะชะลอมาตรการ QE เร็วกว่าที่คาด




  • Marc Faber


    “สาเหตุที่ราคาทองคำตกลงมีหลายทฤษฎี แต่หากจะตอบง่ายๆ ผมก็ขอตอบว่า เพราะมันมีคนขายมากกว่ามีคนซื้อและขณะนี้หลายคนกำลังสงสัยว่ามีคนต้องการทุบราคาทองคำ ก็อาจเป็นได้ แต่ผมไม่มีหลักฐาน ซึ่งแทนที่จะไปพูดว่ามีคนทำราคาจริงหรือไม่ มันจะมีประโยชน์กว่าหากเราไปวิเคราะห์ว่าทำไมถึงมีคนอยากทุบราคาทองคำ คือทำแล้วเกิดประโยชน์อะไรกับเขา
Eric Sprott  ผู้ก่อตั้ง Sprott Asset Management เชื่อว่าธนาคารกลางบางแห่งไม่มีทองคำจริงหรือมีไม่เท่าอย่างที่ประกาศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ  เขาเชื่อว่าธนาคารกลางพวกนี้ต้องซื้อทองคำกลับเข้ามาให้ตรงกับตัวเลขที่รายงาน จึงมีแรงจูงใจพอที่จะต้องการให้ทองคำราคาตกลง เขาบอกว่านั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางในประเทศตะวันตกต้องการกดราคาทองคำให้ต่ำๆ และธนาคารกลางในเอเชียก็ซื้อทองคำได้ราคาที่ต่ำลง
แต่ผมว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น
ในปี 1993 รัฐบาลสหรัฐเอาทองคำไปจากมือของคนอเมริกันโดยจ่ายเงินให้เขาเพียง $25 ต่อออนซ์แล้วหลังจากนั้นรัฐบาลก็ปรับราคาทองคำขึ้นเป็น $35 ต่อออนซ์ ดังนั้น รัฐบาลจะทำแบบเดิมอีกก็ได้ พวกเขาสามารถปั่นราคาทองคำให้ขึ้น และกดราคาให้ต่ำลงได้ตามใจชอบ เช่น ประกาศว่าการถือครองทองคำเป็นสิ่งผิดกฏหมาย รัฐบาลจึงจะจ่ายให้พลเมืองที่นำทองคำมาขายให้รัฐในราคา $1,000 ต่อออนซ์’ หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะปรับราคาทองคำใหม่เป็น $10,000 ต่อออนซ์
เป็นไปได้ไหม ที่เหตุการณ์ในวันนี้เกิดเหมือนเหตุการณ์ข้างต้น
ผมว่าบรรดานายธนาคารกลางต่างๆ ในวันนี้ไม่น่าจะฉลาดพอที่จะคิดและทำแบบนั้น และมันก็ทำได้ยากในเชิงเทคนิค
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าเหตุผลของ Eric Sprott  ที่ว่า ธนาคารกลางบางแห่ง “ไม่มีทองคำจริงหรือมีไม่เท่าอย่างที่ประกาศ” ก็เป็นได้ เพราะถ้าธนาคารกลางมีทองคำจำนวนมหาศาลเก็บไว้ตามที่แจ้งก็น่าจะช่วยดันราคาทองคำให้ขึ้นมากกว่าจะให้ลง เพราะพวกเขาเหล่านี้ถือครอง ทองคำมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น