- นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจจากรอยเตอร์ ส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับต่ำสุดใหม่ที่ 0.5% ในการประชุมวันที่2 พ.ค.และเสียงส่วนใหญ่เกือบ 2 ใน 3 ระบุว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลยุโรปจะผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดแล้ว อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน คาดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้ยูโรอ่อนค่าลง นอกเสียจากว่า ECB จะส่งสัญญาณว่า จะมีการพิจารณาวาระนโยบายแบบกะทันหัน เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบ
- ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือนเม.ย. ร่วงลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันและลดลงมากกว่าที่คาดไว้โดยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี 3 ประเทศใหญ่ในกลุ่มต่างเผชิญกับภาวะความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- Moody’s เชื่อว่า อิตาลีอาจจำเป็นต้องได้รับมาตรการช่วยเหลือจากต่างประเทศในที่สุด แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติในขณะนี้แล้วก็ตาม นอกจากนี้ Moody’s จะยังคงจับตาความสามารถของรัฐบาลใหม่ของอิตาลีในการปฏิรูปเศรษฐกิจ
- ยอดค้าปลีกของสเปนลดลงเป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน โดยร่วงลง 8.9% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ลดลง 7.7% ในเดือนก.พ.
- แบงก์ออฟ ไซปรัสธนาคารรายใหญ่ที่สุดของไซปรัส ได้เสร็จสิ้นการแปลงสภาพ 1 ใน 3 ของเงินฝากที่ไม่ได้รับการประกัน ไปเป็นหุ้น “ชั้น A"ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเพิ่มทุนผ่านเม็ดเงินของผู้ฝากภายใต้การตกลงกับยูโรกรุ๊ปเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 1หมื่นล้านยูโร (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์)
- Fed สาขาชิคาโกเปิดเผยว่า ดัชนีการผลิตเขตมิดเวสต์เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.หลังจากที่ดัชนีดีดตัวขึ้น1.1%ในเดือนก.พ. และทะยานขึ้น 6.4% หากเทียบกับปีที่แล้วโดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการปรับตัวแข็งแกร่งของภาคการผลิตรถยนต์ ซึ่งพุ่งขึ้น 1.2%หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนก.พ.
- การใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ปรับขึ้น0.7% ในเดือนก.พ.แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันยังคงมีกำลังจับจ่าย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อไม่ได้รุนแรงนักขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงยังคงส่งให้การใช้จ่ายชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นได้ช่วยคลายความกังวลที่ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไตรมาส2 ปีนี้อาจจะชะลอตัวรุนแรง
- IMF ประกาศเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของเอเชียในช่วงนี้ ซึ่งรวมถึงภาวะไม่สมดุลทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ โดย ผอ. IMFประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า IMF กำลังจับตาดูสัดส่วนสินเชื่อและระดับผลผลิตในเอเชียอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สถานการณ์อาจจะย่ำแย่ลงภายในเวลาอันรวดเร็ว
- ธนาคารกลางฟิลิปปินส์(BSP) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือนเม.ย.มีแนวโน้มที่ดี โดยจะอยู่ในช่วง 2.2- 3.1% เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่ำลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่3% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 3.2% ในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะสูงกว่า 3.4% เล็กน้อยเนื่องมาจากผลกระทบของการปรับต้นทุนของบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลขึ้นภาษีมาโดยตลอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลมากขึ้น
- ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 4,980 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.เนื่องจากยอดส่งออกสินค้าไอทีของเกาหลีใต้ เช่น สมาร์ท โฟน และเซมิคอนดัคเตอร์ ปรับตัวสูงขึ้น
- สศค. เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวที่ 6% แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากช่วงก่อนหน้า จากเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่มั่นใจเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในกลุ่มยูโรโซน ความกังวลของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงผันผวน ทำให้การส่งออกไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 4.3% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว18.5%
- SETIndex ปิดที่ 1,584.93 จุด เพิ่มขึ้น 2.00 จุด หรือ +0.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 49,258.25 ล้านบาทโดยดัชนีแกว่งตัวผันผวนในช่วงแคบ จากการที่ตลาดยังคงจับตาว่าทางการจะมีการออกมาตรการสกัดค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างไร หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันศุกร์ที่ผ่านมา และ กนง. จะมีการประชุมในวันอังคาร (30 เม.ย.) ซึ่งจะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะมีการประกาศมาตรการออกมา เพื่อสกัดค่าเงินบาทแข็ง
- ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมของอิตาลีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ภาวะชะงักงันทางการเมืองที่ดำเนินมาร่วม 2 เดือนยุติลง นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมนโยบายในวันพฤหัสบดีนี้
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ ระหว่าง -0.02% ถึง -0.05% จากแรงซื้อกลับของนักลงทุน โดยตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆนี้ เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน รวมทั้ง การติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปในสัปดาห์นี้ว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่
- ฮั่วเซ่งเฮง คาดว่า ราคาทองคำยังอยู่ในทิศทางขาลงต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ โดยมองว่าปีนี้คงจะไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับการลงทุนในทองคำ หลังจากบวกขึ้นมาเฉลี่ยปีละ 17% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาทองที่ปรับลง จะดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้เข้าตลาดมากขึ้น เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้ซื้อทองเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง และหวังผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อเท่านั้น ไม่ได้เน้นการทำกำไรมากๆ เหมือนนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งสัดส่วนการขายทองคำแท่งกับทองรูปพรรณในขณะนี้ได้สะท้อนถึงแนวโน้มดังกล่าวอย่างดี เพราะหลังจากราคาลงแรงในรอบนี้ ปรากฏว่าสัดส่วนการขายทองคำแท่งและทองรูปพรรณของฮั่วเซ่งเฮงอยู่ที่ 65% ต่อ 35% จากช่วงก่อนหน้านี้ สัดส่วนอยู่ที่ 90% ต่อ 10%