xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์เตือนจีนอาจประสบภาวะโคม่าทางศก.เหมือนญี่ปุ่นในทศวรรษ 90

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        หลังจากรัฐบาลจีนพยายามปรับเศรษฐกิจของประเทศให้หันมาพึ่งพาการส่งออก เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จเหมือนกับญี่ปุ่น จีนก็กำลังเผชิญความเสี่ยงในการประสบกับภาวะโคม่าทางเศรษฐกิจเหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
        สิ่งที่จีนเลียนแบบญี่ปุ่นก็คือการทำให้เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออก และพึ่งพาการลงทุนที่ได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อเป็นหลัก โดยนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การทำแบบนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจขาดความสมดุล เนื่องจากมีการ ลงทุนที่มากเกินไปในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสูญเสีย ความได้เปรียบด้านต้นทุน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์ และสิ่งทอ โดยในขณะที่ค่าจ้างแรงงานในจีนปรับสูงขึ้น  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนก็ลดต่ำลง
        ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนก็มุ่งมั่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดวิกฤติการเงินแบบในสหรัฐ เพราะวิกฤติดังกล่าวจะส่งผลให้มีบริษัทล้มละลายและมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก
        อย่างไรก็ดี การสกัดกั้นวิกฤติการเงินอาจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแอดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งจะเป็นการขัดขวางความพยายามในการทำให้เศรษฐกิจ  มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้เกิดธนาคารและบริษัท "ซอมบี้"  ขึ้นในจีน โดยธนาคารและบริษัทซอมบี้นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเฉื่อยชา
        นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า ประชากรจีนจำนวนมากกำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนด้วย
        นายเชตัน อาห์ยา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของบริษัทมอร์แกน  สแตนเลย์ กล่าวว่า "หลายคนไม่ยอมรับความจริง หลายคนคิดว่าสัดส่วนประชากรเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ" และกล่าวเสริมว่า "ผมกังวลกับความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืด"
        ถึงแม้จีนไม่มีแนวโน้มที่จะประสบภาวะเงินฝืดในขณะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ จีนเติบโตในอัตรา 7.5 % และราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.7 % ต่อปี แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันนี้มีความคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 1989 ในหลายๆด้าน ก่อนที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทรุดตัวลงในปี 1991
        ความคล้ายคลึงกันนี้รวมถึงการที่จีนต้องพึ่งพาธนาคารในการกระตุ้นการลงทุนในภาคส่งออก เพื่อจะได้สร้างงานและส่งเสริมการพัฒนา โดยรัฐบาลจีนได้ตอบแทนภาคธนาคารด้วยการควบคุมอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการรับประกันว่าธนาคารจะได้รับผลกำไรในระดับสูง และเนื่องจากสินเชื่อที่ให้อัตราผลกำไรสูงสุดคือสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด  ดังนั้นธนาคารจึงเน้นการปล่อยกู้แก่บริษัทขนาดใหญ่ของรัฐบาลเท่านั้น
        จีนดำเนินการเหมือนกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 โดยจีนพยายาม แก้ไขปัญหานี้ด้วยการเปิดเสรีภาคการเงินในบางส่วน, จัดตั้งช่องทางใหม่ ในการระดมทุน, จัดตั้งตลาดตราสารหนี้ และสินเชื่อนอกภาคธนาคาร  อย่างไรก็ดี การทำแบบนี้เป็นการกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้มากยิ่งขึ้นแทนที่จะปล่อยกู้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น และสิ่งนี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ สถานการณ์ยังย่ำแย่ลงไปอีกในปี 2009 เมื่อจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านหยวนเพื่อสกัดกั้นวิกฤติการเงินโลก โดยมาตรการนี้เน้นการปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก
        สินเชื่อในญี่ปุ่นเคยขยายตัวจากระดับ 127 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 1980 สู่ 176 % ของจีดีพี ในปี 1990 ส่วนสินเชื่อในจีนขยายตัวจากระดับ 105 % ของจีดีพี ในปี 2000 สู่ 187 % ของจีดีพีในปี 2012
        ปัญหาของจีนในขณะนี้คือการที่เงินทุกหยวนที่ใช้ในการลงทุนใหม่ ส่งผลบวกที่ลดน้อยลงต่อจีดีพี โดยเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดในจีนแล้ว โดยราคาผู้ผลิตในจีนร่วงลงเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน และต้นทุน การกู้ยืมที่แท้จริงที่ 8.7 % ก็อยู่สูงกว่าอัตราการเติบโต
        จีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ว่า มาตรการปฏิรูปอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดิ่งลงสู่ระดับที่ต่ำพอที่จะส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการสั่นคลอนระบบการเงินทั้งระบบ
        นางเกรซ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์จีนของเจ.พี. มอร์แกนกล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญมากก็คือการชะลออัตราการเติบโตของสินเชื่อ แต่ถ้าหากสินเชื่อชะลอตัวลงมากเกินไป เศรษฐกิจที่แท้จริงก็จะเผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลงมากเกินไป"
        นางอึ้งกล่าวว่า ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่านั้นก็คือการที่รัฐบาลจีนพยายามสกัดกั้นเหตุการณ์ไม่สงบทางสังคม ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ รัฐบาลอาจเลือกที่จะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ช่วย ลูกหนี้ที่อ่อนแอต่อไป โดยใช้วิธีต่ออายุสินเชื่อ ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นเคยทำในช่วงทศวรรษ 1990 แต่การทำเช่นนี้ส่งผลลบต่อความสามารถของธนาคารในการปล่อยกู้แก่ธุรกิจใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรและสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
        ความพยายามของรัฐบาลจีนในระยะนี้ในการสกัดกั้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้รับเสียงวิจารณ์ทั้งในทางบวกและทางลบ โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลจีนจะปรับลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และลดขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับบริษัทนำเข้า โดยตลาดมองว่ามาตรการเหล่านี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างที่น่าพึงพอใจ อย่างไรก็ดี  รัฐบาลจีนจะส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อสำหรับการค้าต่างประเทศ และจะเร่งรัดการลงทุนในทางรถไฟด้วย แต่ตลาดมองว่ามาตรการ 2 อย่างหลังนี้เป็นเหมือนกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจที่อ่อนแอ
        นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า การที่ธนาคารกลางจีนประกาศในเดือนนี้เรื่องการยกเลิกระดับต่ำสุดสำหรับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ถือเป็นขั้นตอนในทางบวกที่จะช่วยกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมตามระดับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์รายอื่นๆมองว่า สิ่งที่จีนทำเหมือนกับสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้ว ซึ่งได้แก่ การช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รีไฟแนนซ์สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ดีที่สุด  เพื่อที่จะได้นำเงินออมไปใช้ในการปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ที่มีความจำเป็นสูงกว่า
        นายวาตารุ ทากาฮาชิ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า "อัตราผลกำไรจะลดลง ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จะพยายามเพิ่มปริมาณการปล่อยกู้ โดยใช้วิธีปรับลดมาตรฐานการปล่อยกู้ และสิ่งนี้เหมือนกับสิ่งที่ธนาคารญี่ปุ่นเคยทำในช่วงปลายทศวรรษ 1980"
        นักเศรษฐศาสตร์บางรายกล่าวเตือนว่า ไม่ควรมีการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในระดับที่มากเกินไป โดยนายชางยอง รี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า "การเปรียบเทียบจีนกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ถือเป็นสิ่งที่มากเกินไป"
        นายรีกล่าวว่า การที่จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้จีนมีอุปสงค์สูงกว่าญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยมณฑลหลายแห่งในจีนที่อยู่ตอนในของประเทศมีฐานะยากจน และมณฑลเหล่านี้ไม่ได้ประสบปัญหากำลังการผลิตสูงเกินไป  ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคในมณฑลเหล่านี้ ถึงแม้โครงการดังกล่าวอาจดูเหมือนมีราคาแพงเกินไปในปัจจุบัน  การที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดันประชากรให้เข้ามาอยู่ในเมือง อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
        อย่างไรก็ดี การเป็นประเทศกำลังพัฒนาสร้างความยากลำบากให้แก่จีนในการรับมือกับอัตราการเติบโตของตำแหน่งงานที่ระดับต่ำ และค่าจ้างแรงงานที่ทรงตัว นอกจากนี้ การขยายเขตเมืองก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมาก เท่ากับแต่ก่อน เพราะประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของจีนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อยู่แล้วในปัจจุบัน และอายุเฉลี่ยของประชากรในชนบทอยู่ที่ 40 ปี  ดังนั้นประชากรในชนบทจึงไม่มีแนวโน้มท่าจะโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่
        สัดส่วนประชากรอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้จีนประสบภาวะเงินฝืดเหมือนกับญี่ปุ่น โดยนโยบายบุตรคนเดียวของจีนส่งผลให้จำนวนประชากรวัยทำงานของจีนลดน้อยลง ซึ่งสิ่งนี้เหมือนกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 โดยในช่วงนั้นปัจจัยด้านประชากรส่งผลให้ปริมาณการบริโภคลดลง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดิ่งลงอย่างรุนแรงในญี่ปุ่น
        ทางออกสำหรับปัญหานี้อาจเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นแก้ไขภาวะเงินฝืดด้วยการดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวในการลดต้นทุนการกู้ยืม, เพิ่มงบลงทุนของรัฐบาล และขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ
        นายอาห์ยากล่าวว่า "หลังจากการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก ก็มีสองสิ่งที่ต้องทำเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินฝืด โดยสิ่งแรกคือการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ดีเพื่อตอบรับต่อภาวะนี้ และสิ่งที่สองคือการปฏิรูปโครงสร้าง
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น