เอเจนซีส์ – เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวแรงที่สุดในรอบหนึ่งปี เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและรายได้จากการส่งออกสามารถชดเชยการอ่อนตัวของการลงทุนภาคธุรกิจ นับจากมหาภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายยับเยินแก่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2011
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ (16) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนที่คิดเป็นองค์ประกอบราว 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ปรับขึ้น 2.3 เปอร์เซ็นต์ และจีดีพีในรูปตัวเงินเพิ่มขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่พุ่งเกือบสูงที่สุดในรอบปีเช่นเดียวกัน
รายงานที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคกำลังตอบสนองต่อแคมเปญการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และฮารูฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คนใหม่ และน่าเชื่อได้ว่า ภาคธุรกิจในแดนปลาดิบอาจผ่อนคลายท่าทีระมัดระวังลง จากการที่เงินเยนอ่อนลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลของนายอาเบะและพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี (แอลดีพี) ประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบเพิ่มเติม
นาโอกิ อิซูกะ นักเศรษฐศาสตร์ของ “ซิตี้กรุ๊ป” ในกรุงโตเกียวชี้ว่า ญี่ปุ่นพ้นจากภาวะตกต่ำเมื่อปีที่แล้วอย่างชัดเจน แต่ประเด็นสำคัญคือ นายกรัฐมนตรีอาเบะจะสามารถผลักดันกลยุทธ์การเติบโต เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจได้หรือไม่
ขณะนี้ อาเบะกำลังเตรียมเปิดเผยแผนปฏิรูปเชิงโครงสร้างชุดที่ 3 หลังจากสองชุดแรกคือการกระตุ้นด้านการเงิน และการคลัง เริ่ม “ผลิดอกออกผล”
อย่างไรก็ดี ตัวปรับลดจีดีพี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ใช้ครอบคลุมทั้งระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ลดลง 1.2 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว หรือลดลงมากที่สุดนับจากช่วง 3 เดือนแรกของปี 2011 เป็นต้นมา ยังเป็นสัญญาณตอกย้ำถึงความท้าทายของคูโรดะผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ในการยุติ “ภาวะเงินฝืด” ของชาติที่เรื้อรังมากว่าทศวรรษ
แผนการเพิ่มฐานเงินสองเท่าของบีโอเจช่วยฉุดเงินเยนอ่อนลง 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และ 13 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรในปีนี้
ขณะที่ดัชนีนิกเกอิขานรับแนวโน้มการเติบโตด้วยการไต่ขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์นับจากช่วงต้นปี หรือคิดเป็นสองเท่าของดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส 500 ในตลาดนิวยอร์ก และมีแนวโน้มว่า ตลาดหุ้นโตเกียวจะปรับตัวขึ้นต่อไปในไตรมาสปัจจุบัน
ทว่า ในส่วนการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัยที่เป็นตัวถ่วงการเติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 นั้น ยังติดลบที่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ จากระดับจีดีพีที่แท้จริง ขณะที่ระดับการลงทุนภาคธุรกิจระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมต่ำสุดนับจากไตรมาส 2 ปี 2011 เป็นต้นมา นอกจากนี้บริษัทต่างๆ ยังลดปริมาณสินค้าคงคลังของตัวเองลง 0.8 เปอร์เซ็นต์
ตรงข้ามกับภาคที่อยู่อาศัยที่ได้อานิสงส์จากการที่บีโอเจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดอย่างมโหฬาร และซื้อทรัสต์การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปีในเดือนมีนาคม ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไต่สู่ระดับสูงสุดที่เคยทำได้เมื่อเกือบ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับรัฐบาลอาเบะที่กำลังเร่งหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงที่พรรคแอลดีพียังคงเป็นเสียงส่วนน้อย ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึง
ชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างเมื่อปลายปีที่แล้วของนายอาเบะและพรรคแอลดีพี เป็นผลโดยตรงจากแผนการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ และอาเบะกำลังพยายามใช้แผนการนี้ซึ่งได้รับการตอกย้ำ ด้วยการแต่งตั้งคูโรดะคุมบีโอเจเมื่อเดือนมีนาคม เพื่อนำแอลดีพีกำชัยในสภาสูงอีกคำรบ
วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา บีโอเจแถลงว่า จะขยายขอบเขตการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีกเท่าตัว เป็นมากกว่า 7 ล้านล้านเยนต่อเดือน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 2 ปี และย้อนกลับไปในเดือนมกราคม รัฐบาลอาเบะได้ประกาศมาตรการใช้จ่ายพิเศษ 10.3 ล้านล้านเยน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่หดตัว 2 ไตรมาสในปี 2012
ปัจจุบันปรากฏการณ์การต่อสู้กับภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นเริ่มปรากฏให้เห็นในประเทศอื่นๆ อาทิ กลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักที่แถลงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีเดียวกันของอเมริกาไถลลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนมีนาคม และมีแนวโน้มว่ายอดการสร้างบ้านใหม่ในเดือนเมษายนอาจร่วงลงถึง 6.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม