เอเจนซี - ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ในระดับพุ่งแรงที่สุดในรอบ 9 ปี ขณะที่อัตราว่างงานก็ลดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี บ่งชี้ว่า “อาเบะโนมิกส์” ที่มีเป้าหมายยุติภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ กำลังส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งจะปูทางไปสู่การฟื้นตัวในที่สุด
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันอังคาร (30 เม.ย.) ว่า ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนประจำเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยนำกำไรซึ่งได้จากหุ้น ไปใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ซื้อรถหรือซ่อมแซมบ้าน
ตัวเลขนี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นต่อปีซึ่งอยู่ที่ 1.8% และถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2004 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 5.3%
กระทรวงกิจการภายในยังเปิดเผยว่า อัตราว่างงานประจำเดือนมีนาคมได้ลดลงอยู่ที่ 4.1% ต่ำที่สุดนับจากเดือนพฤศจิกายน 2008 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.0% และเทียบกับอัตราคาดการณ์เฉลี่ยของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งให้กันไว้ที่ 4.3%
ตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความหวังว่า นโยบายการคลังและการเงินเชิงรุกของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ที่เรียกขานกันว่า “อาเบะโนมิกส์” และมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนญี่ปุ่น ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ให้สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างยืดเยื้อเรื้อรังนั้น ทำท่าสามารถผลิดอกออกผลได้อย่างที่ต้องการ โดยที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นอุปสงค์ภายในประเทศส่วนที่มีความสำคัญมาก อาจจะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการรับประกันการเจริญเติบโตในอนาคตระยะใกล้
นอกจากนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังเป็นข่าวดีสำหรับฮารูฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งตั้งเป้ากระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2% ภายใน 2 ปี หลังจากที่เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเงินฝืดมานาน จะได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและส่งเสริมให้มีการใช้เงินทุน
ถึงแม้ตัวเลขสำคัญอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ ผลผลิตอุตสาหกรรมแดนอาทิตย์อุทัยในเดือนมีนาคม สามารถเพิ่มขึ้นได้ต่ำกว่าคาดหมาย คืออยู่ในระดับเพียง 0.2% สืบเนื่องจากอุปสงค์นอกประเทศยังคงซบเซา แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์ต่างมั่นใจว่า การส่งออกและการผลิตจะสามารถฟื้นขึ้นได้ในที่สุดจากอานิสงส์การอ่อนค่าของเงินเยน
โยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยไดอิชิ ไลฟ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกจะเติบโตสูงกว่าอัตรา 2% ต่อปี และยังอาจเพิ่มขึ้นไปอีกหากภาคธุรกิจฟื้นตัวตามทันภาคครัวเรือน
นโยบายของอาเบะนั้นฉุดให้เงินเยนมีค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และดันราคาหุ้นในตลาดโตเกียวพุ่งขึ้นถึง 50% นับจากเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้น
ความเชื่อมั่นในญี่ปุ่นยังกระเตื้องขึ้นหลังจากวันที่ 4 เดือนที่ผ่านมา บีโอเจประกาศแผนการผ่อนคลายขยายตัวทางการเงินครั้งใหญ่ โดยให้สัญญาอัดฉีดเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นผิดหูผิดตาในครั้งนี้ไม่มีแนวโน้มยั่งยืน อีกทั้งน่าเป็นห่วงว่า ค่าแรงจะปรับขึ้นล่าช้ามาก กระนั้น ยังคงมีความหวังว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยนำกำไรจากหุ้นไปจับจ่ายใช้สอย