นโยบายหาเสียงหลักของ นายชินโซ อาเบ หัวหน้าพรรคแอลดีพี ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งพรรคแอลดีพี ชนะแบบถล่มทลายคือ คำสัญญาว่า จะฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่น ให้หลุดพ้นจากภาวะชะงักงันอย่างยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ให้ได้
นายอาเบประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี งานแรกของเขาคือ กดดันให้บีโอเจ ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2 เปอร์เซ็นต์
นายอาเบ และบรรดาที่ปรึกษาของเขา เห็นว่า บีโอเจ เป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพราะใช้นโยบายการเงินแบบอนุรักษ์นิยม ให้ความสำคัญกับ การดูแลปัญหาเงินเฟ้อมากเกินไป ไมเชื่อว่า นโยบายการเงินจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เขาต้องการให้บีโอเจ ซึ่งในทางกฎหมาย เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อฝ่ายการเมือง รับฟังและทำตามความต้องการของรัฐบาลมากขึ้น
ประจวบเหมาะกับที่ ผู้ว่า บีโอเจ คนปัจจุบัน นายมาซากิ ชิรากาวา ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงต้นเดือนเมษายน ขอลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 19 มีนาคม โดยให้เหตุผลว่า รองผู้ว่า บีโอเจ 2 คนจะต้องพ้นจากตำแหน่งในวันนั้นด้วย จึงถือโอกาสลาออกก่อนครบวาระสามสัปดาห์ เพื่อให้รัฐบาลได้เลือกทีมผู้ว่า และรองฯ พร้อมกันไปเลย
รัฐบาล เป็นผู้เสนอชื่อ ผู้ว่า บีโอเจ และรองอีก 2 คน ให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบ นายอาเบ เลือกนายฮารูฮิโกะ คูโรดะ ประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี เป็นผู้ว่า บีโอเจ และ นายคิคุโอะ อิวาตะ นักเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย กาคูชูอิน กับ นายฮิโรชิ นากาโสะ เจ้าหน้าที่บีโอเจ เป็นรองผู้ว่า ฯ โดยเสนอชื่อต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์
นายคารูดะเ เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่รับผิดชอบด้าน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจนถึงปี ค.ศ.2003 เป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางของแบงก์ชาติญี่ปุ่นมาโดยตลอด และสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาเป็นที่ชื่นชอบของที่ปรึกษาหลายคนของนายอาเบซึ่งต้องการเห็นผู้ว่าแบงก์ชาติพันธุ์เดียวกับนายเบน เบอร์นาเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ และ นายมาริโอ. ดรากี้ผู้ว่าธนาคารกลางยุโรป ซี่งเชื่อว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้
ส่วนนายอิวาตะ ซึ่งจะเข้ามาเป็นรองผู้ว่า เป็นผู้ที่ต้องการเห็นบีโอเจ ขึ้นต่อฝ่ายการเมืองมากขึ้น เขาเรียกร้องให้แก้กฎหมายธนาคารกลาง โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ปลดผู้ว่าการบีโอเจได้
เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ จะใช้นโยบายการเงินแบบเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ อียู และอังกฤษ คือ ใช้มาตรการQE ( Quantitative Easing) รับซื้อหนี้ ที่อยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาล และอาจชยายไปถึงพันธบัตรของต่างชาติด้วย ซึ่งจะเป็นการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อตรึงดอกเบี้ยให้ต่ำ โดยหวังว่า จะช่วยกระตุ้นการลงทุน การจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
ญี่ปุ่น เป็นชาติแรก ที่ใช้การเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ รับซื้อหนี้รัฐบาล เพื่อตรึงดอกเบี้ยไว้ให้ต่ำ มาตั้งแต่ปี 2002 ก่อนสหรัฐฯ และยุโรป อเมริกา อังกฤษ และอียู เพิ่งจะใช้มาตรการQE เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์การเงิน ปี 2008
เหตุที่ธนาคารกลางของประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ไม่ใช้การลดดอกเบี้ยโดยตรง เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากอยู่แล้ว เกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ ในกรณีของญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยต่ำมากคือไม่เกิน 0.01 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถลดได้แล้ว จึงต้องใช้การเพิ่มปริมาณเงินเพื่อควบคุมราคา คือ ดอกเบี้ยไม่ให้สูงขึ้น
แต่มาตราการ QE ของบีโอเจ นั้น ไม่ได้ผล ไม่สามารถปลุกเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ เพราะบีโอเจ ใช้มาตรการนี้แบบไม่เต็มที่ ไม่จริงจัง เพราะยังยึดติดอยู่กับกรอบความคิด ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และผู้ว่า บีโอเจ โดยเฉพาะนายชิรากาวา ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ไม่เชื่อว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลาง จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพราะปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีประชาการสูงวัยจำนวนมาก และมีประชากรน้อยลง รวมทั้ง การปกป้องคุ้มครอง บางอุตสาหกรรมมากเกินไป จนไม่เกิดการแข่งขัน การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจมากๆ เพื่อรับซื้อหนี้ มีความเสี่ยงต่อ ปัญหาเงินเฟ้อ การใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติการณ์หนี้สาธารณะแบบกรีซได้
เป้าหมายสำคัญอีกเป้าหมายหนึ่งของมาตรการ QE คือ ทำให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อจะได้ส่งออกได้มากขึ้น นายอาเบ ต้องการผู้ว่า บีโอเจ ที่สามารถอธิบาย และปกป้อง นโยบายการเงิน ของญี่ปุ่นต่อประเทศอื่นๆได้ เพราะค่าเงินเยนที่อ่อนลง จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออก ซึ้งจะทำให้ญี่ปุ่น กลายเป็นผู้ร้ายที่ถูกตำหนิติเตียนได้
นายคูโรดะ มีคุณสมบัติในข้อนี้ อย่างที่นายอาเบคต้องการ เพราะนอกจากจะใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไหลรื่นแล้ว ยังเคยมีประสบการณ์ในการเจรจา ติดต่อกับผู้กำหนดนโยบายทางเศราฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และอียู
อย่างไรก็ตาม QE ไม่ใช่ยาวิเศษที่เยียวยาเศรษฐกิจได้ดังใจนึก สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ดี ธนาคารกลางหรือเฟด เริ่มใช้มาตรการQE ซื้อหนี้อสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปลายปี 2008 แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน จนต้องมี QE 2 และ QE 2 รับซื้อหนี้เดือนละ แปดหมื่นกว่าล้านเหรียญ แบบไม่มีกำหนด จนกว่า ตัวเลจการว่างงานจะลดลง
การใช้มาตรการQE ก็เพราะว่า ไม่มีเครื่องมือทางด้านการคลัง และการเงินอื่นๆให้ใช้แล้ว QE เป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ไม่มีหลักประกันว่า จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะงักงัน หรือถดถอยได้ มาตราการQE ของผู้ว่าบีโอเจ คนใหม่ จึงถูกจับตาดูว่า จะต้องใช้เงินมากขนาดไหน จะส่งผลอย่างไรต่อ ค่าเงินของประเทศต่างๆ และ จะฉุดญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากหล่มเศรษฐกิจ ตามที่นายอาเบหาเสียงไว้ได้สำเร็จหรือไม่