xs
xsm
sm
md
lg

แผนพักรบสงครามค่าเงินจี20 เหลว - อาเบะเล็งซื้อบอนด์ต่างชาติฉุดเยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินโซ อาเบะ
เอเจนซีส์ - ผู้นำญี่ปุ่นเปิดช่องอาจเข้าซื้อพันธบัตรต่างชาติเพื่อดึงเงินเยนให้อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มยั่วยุให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่พอใจอย่างรุนแรง ขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลกับสงครามค่าเงิน อีกทั้งยังเท่ากับเป็นการละเมิดแถลงการณ์ล่าสุดของจี20 โดยตรง

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ บอกกับนักการเมืองญี่ปุ่นว่า การแทรกแซงในตลาดถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่กำลังหารือกันอยู่ และขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรต่างชาติ

การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นแม้ว่าแถลงการณ์จี20 ที่ออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะประกาศว่า บรรดามหาอำนาจทั้งหมดจะ “งดเว้นจากการลดค่าเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตัวเอง” ก็ตาม

ฮันส์ เรเดเกอร์ นักวิเคราะห์ จากมอร์แกน สแตนเลย์ชี้ว่า การซื้อพันธบัตรต่างชาติต่างจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่สหรัฐฯ และอังกฤษใช้ เท่ากับเป็นการละเมิดแถลงการณ์ของจี20 โดยตรง

เรเดเกอร์มองว่า อาเบะต้องการโน้มน้าวให้ตลาดเชื่อว่า ญี่ปุ่นมีอำนาจไม่จำกัดในการดึงเงินเยนให้อ่อนลงหากจำเป็นจริงๆ ขณะที่พยายามทำลายวงจรเงินฝืดให้ราบคาบ

ด้าน เจฟฟรีย์ เคนดริก จากโนมูระ เสริมว่า กฎที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือ การลดค่าเงินเพื่อให้มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับมาตรการ QE เป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ เนื่องจากนโยบายมีเป้าหมายที่เศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะการขจัดภาวะเงินฝืดและแก้ปัญหาการว่างงาน

“หลายประเทศจะไม่พอใจ หากญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง สหรัฐฯ ก็กำลังกังวลว่า ถ้าปล่อยให้ญี่ปุ่นทำแบบนั้น คงไม่สามารถห้ามไม่ให้จีนดึงค่าเงินหยวนลงมาได้เช่นกัน”

อาเบะนั้นยังขู่ซ้ำว่า จะยกเครื่องกฎหมายควบคุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หากบีโอเจเตะถ่วงกลยุทธ์การเพิ่มอัตราหมุนเวียนเงินภายในประเทศของตน โดยเป็นที่คาดว่าสัปดาห์หน้าผู้นำญี่ปุ่นจะประกาศแต่งตั้งผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ ซึ่งจะเป็นคนที่ยินดีฉีกกฎและทดลองนโยบายสุดขั้ว ที่เคยดึงญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำในช่วงต้นทศวรรษ 1930

ทั้งนี้ มาซาเอกิ ชิรากาวะ ที่กำลังจะอำลาตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจ ถือเป็นนักการเงินสายเหยี่ยวที่ต่อสู้เพื่อคงแนวทางอนุรักษนิยมโดยยอมผ่อนปรนให้เพียงมาตรการ “QE-lite” ซึ่งหมายถึงการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นจากแบงก์ในประเทศ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าแนวทางดังกล่าวของชิรากาวะ แทบไม่ช่วยกระตุ้นปริมาณเงินในระบบและกลับกลายทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นอัมพาต

ปีที่แล้วโลกแสร้งมองไม่เห็นสวิตเซอร์แลนด์กว้านซื้อพันธบัตรยุโรปจำนวนมากเพื่อจำกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์ของตนไว้ที่ 1.20 ยูโร แต่มาตรการเดียวกันของญี่ปุ่นมีมูลค่ามากกว่าถึง 14 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบการซื้อขายทั่วโลก

โตเกียวเข้าซื้อพันธบัตรต่างชาติหลังจากภัยพิบัติที่ฟูกูชิมะต้นปี 2011 เพื่อหยุดยั้งการแข็งค่าทำสถิติสูงสุดของเงินเยน ซึ่งครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นการดำเนินการ “เพียงครั้งเดียว” เพื่อรับมือภาวะฉุกเฉิน

แต่สถานการณ์ขณะนี้ต่างออกไป เนื่องจากเยนอ่อนลงถึง 30% เมื่อเทียบเงินยูโร และ 20% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ นับจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าอาเบะจะได้ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งที่มีภารกิจหลักเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

วันจันทร์ (18) ที่ผ่านมา สกุลเงินญี่ปุ่นแตะระดับ 94 เยน ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ดัชนีนิกเกอิเดินหน้า 2% เนื่องจากกองทุนมองว่าแถลงการณ์จี20 เป็นเพียงคำมั่นแบบหลวมๆ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 30% นับจากเดือนตุลาคมเป็นต้นมา

ด้านสตีเฟน เจน จากเอสแอลเจ มาโคร พาร์ตเนอร์สมองว่า แถลงการณ์จี20 เป็นการเปิดไฟเขียวให้ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบใหม่ต่อ เพียงแต่ต้องไม่โฉ่งฉ่างเกินไป และเขาเชื่อว่า สกุลเงินแดนปลาดิบจะอ่อนลงอยู่ที่ 110 เยนเนื่องจากบริษัทประกันภัย กองทุน และแบงก์ญี่ปุ่นจะปรับตัวรับ “นโยบายเศรษฐกิจแบบอาเบะ”

ส่วน พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลวิจารณ์ว่า สิ่งที่ญี่ปุ่น อเมริกา และอังกฤษกำลังทำอยู่ คือ พยายามใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัวที่การอ่อนค่าของเงินอันเป็นผลพลอยได้จากนโยบายนี้ เป็นสิ่งที่โลกที่กำลังติดกับดักสภาพคล่องต้องการ

“จริงอยู่ ยุโรปอาจรู้สึกเป็นปัญหากับการสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน แต่มีคำตอบในเรื่องนี้ นั่นคือเลียนแบบประเทศก้าวหน้า และนำธนาคารกลางยุโรปเข้าร่วมกระแสนโยบายการเงินแบบขยายตัวที่ดีต่อทุกฝ่าย” ครุกแมนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น