เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - หลังจากผู้คนจำนวนมากในญี่ปุ่น “เสพติด” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมายาวนาน 20 ปี นักวิเคราะห์บางคนจึงกำลังสงสัยว่า มาตรการล่าสุดมูลค่า 20.2 ล้านล้านเยน (226,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.07 ล้านล้านบาท) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะสามารถรักษาเศรษฐกิจที่ป่วยไข้เรื้อรังของญี่ปุ่นได้อย่างถาวร หรือเป็นเพียงการฟื้นเรื่องถนัดของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ในการผันผลประโยชน์เอื้อพวกนักการเมืองท้องถิ่น และรังแต่ทำให้แดนปลาดิบเข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่ต้องการมาตรการกระตุ้นไม่รู้จบ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11) นายกรัฐมนตรีอาเบะ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคแอลดีพี ได้แถลงแผนการใช้จ่ายขนาดใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นที่หยุดนิ่งให้เดินหน้าในอัตราประมาณ 2% และสร้างงาน 600,000 ตำแหน่ง
มาตรการนี้ ซึ่งประกอบด้วยการจัดทำโครงการก่อสร้างสาธารณะจำนวนมาก สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอาเบะที่มุ่งกดดันธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ให้ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก โดยหวังว่าจะช่วยหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินเยนและส่งเสริมการเติบโตได้
เหนือสิ่งอื่นใด อาเบะต้องการยุติภาวะเงินฝืดเรื้อรังรุนแรงที่เกาะกินญี่ปุ่นมาเกือบตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่น และกระทบกระเทือนการลงทุน
ปรากฏว่า แผนการของอาเบะที่ได้รับการขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) ได้รับการตอบรับเป็นอันดีจากตลาด โดยเงินเยนได้อ่อนค่าลงตั้งแต่หลายๆ สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคแอลดีพีกลับขึ้นมาครองอำนาจในคราวนี้ และในวันศุกร์เทรดที่ราว 89 เยนต่อดอลลาร์ ต่ำลงมาแล้วประมาณ 12% ทีเดียว ขณะที่ดัชนีนิกเกอิวันศุกร์ไต่ขึ้นจากระดับต่ำกว่า 9,000 ไปปิดที่ 10,802 จุด สูงสุดในช่วงกว่า 2 ปี
แต่ปัญหาก็คือ ญี่ปุ่นเคยออกมาตรการกระตุ้นแบบนี้มาหลายครั้งหลายหน ทว่าไม่เคยมีสัมฤทธิผลอันถาวรเลย
ทาโร ไซโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ แสดงความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าไม่สามารถนำไปสู่การฟื้นตัวแบบยั่งยืนได้ ญี่ปุ่นอาจเข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่ต้องการมาตรการกระตุ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ทั้งนี้ จากมูลค่ามาตรการใช้จ่ายทั้งหมด 20.2 ล้านล้านเยน รัฐบาลจะจัดสรรให้โตเกียวโดยตรง 13 ล้านล้านเยน ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนได้รับการอัดฉีดในระดับลดหลั่นกันไป
โครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และโครงการปรับปรุงโรงเรียนและโรงพยาบาลให้รับมือแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งแผนการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมพร้อมแล้ว ต่างจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นนี้
นอกจากนั้น แผนการครั้งนี้ยังมีมาตรการจูงใจด้วยเงินสดเพื่อปรับปรุงผลผลิตอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงเงินอุดหนุนประกันสังคมและการฟื้นฟูในภูมิภาค
แต่ความที่ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงลิ่วคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 เท่าตัวของจีดีพี และมียอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นลิ่วๆ การออกพันธบัตรใหม่ 7.6 ล้านล้านเยนเพื่อระดมเงินมาใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นคราวนี้ จึงเป็นการเพิ่มยอดหนี้ขึ้นมาอีกอย่างมหาศาล
จูเลียน เจสส็อป หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลกของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ในลอนดอน มองว่า แผนการใช้จ่ายฉุกเฉินคราวนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ 14 นับจากปี 1999 และตามการรวบรวมของ มิซูโฮ ซีเคียวริตี้ส์ ยอดใช้จ่ายของแผนการเหล่านี้ทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 75 ล้านล้านเยนแล้วนั้น รังแต่ทำให้เกิดความสงสัยข้องใจว่ารัฐบาลยังไมกล้าที่จะทำการตัดสินใจประเด็นที่ยากลำบาก และจริงๆ แล้วการหันมาดำเนินการเรื่องนี้ก็อาจบ่อนทำลายสถานการณ์ที่นำไปสู่การผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกด้วยซ้ำไป
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับอาเบะ ยังวิจารณ์ว่า มาตรการริเริ่มคราวนี้เป็นการฟื้นแนวทางผันประโยชน์ให้พวกพ้องของพรรคแอลดีพี ของอาเบะ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยอื้อฉาวเรื่องการนำเงินจากมาตรการกระตุ้นมาสร้างสะพานและอุโมงค์หลายแห่ง แล้วก็ถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่มีใครใช้สอย
หนังสือพิมพ์นิกเกอิชี้ว่า มาตรการกระตุ้นล่าสุดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเหตุผลเบื้องหลังการใช้จ่ายขนาดใหญ่เช่นนี้ในเขตชนบท รวมถึงความสามารถของรัฐบาลในการจัดอันดับความสำคัญของโครงการต่างๆ และการตัดทิ้งโครงการที่สูญเปล่า
เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ อาเบะยอมรับเรื่องที่ผู้คนมองสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วก็มีความข้องใจ กระนั้น เขายืนกรานคราวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต พร้อมกับย้ำว่า หากเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็ง ก็คงไม่สามารถปรับปรุงวินัยทางการคลังได้
คำพูดเช่นนี้ย่อมหมายถึงว่า อาเบะกำลังวางเดิมพันที่จะแลกเปลี่ยนความยากลำบากทางการคลังในระยะสั้น โดยหวังว่ามันจะบังเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาในระยะยาว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาดูจะวาดหวังด้วยแน่ๆ ว่า มาตรการคราวนี้จะช่วยโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิออกเสียงให้กาบัตรเลือกผู้สมัครวุฒิสมาชิกจากแอลดีพี ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นช่วงฤดูร้อนปีนี้