xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 24/07/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ยูโรสแตท รายงานว่า ยอดรวมหนี้สิ้นของ 17 ประเทศสมาชิกยูโรโซนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92.2% ของจีดีพีในไตรมาส 1/56 จาก 90.6% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า โดยประเทศที่มีสัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อจีดีพีสูงสุดได้แก่ กรีซที่ 160.5% อิตาลี 130.3% โปรตุเกส 127.2% และไอร์แลนด์ 125.1% ขณะเดียวกันรายงานล่าสุดยังระบุว่า ภาระหนี้สิ้นของประเทศยุโรปหนักหน่วงยิ่งขึ้นขณะที่จีดีพีของอียูยังหดตัวลง และยังไม่มีแนวโน้มว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้นำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเป็น 95 จุดในเดือน ก.ค. จาก 93 จุดในเดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงในรอบ 15 เดือน และถึงแม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว แต่ก็เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วงที่ผ่านมา

  • ราคาบ้านสหรัฐในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อยว่าจะขยายตัวได้ 0.8% แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันตลอด 16 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ

  • รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มการประเมินภาวะเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากการลงทุนในภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณปรับฐานขึ้น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่น "ฟื้นตัวขึ้น" เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน และการปรับตัวขึ้นของราคาในช่วงที่ผ่านมา แสดงว่าเงินฝืดกำลังคลี่คลายตัว นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการประเมินการลงทุนในภาคธุรกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนโดยระบุว่าการลงทุนในภาคธุรกิจกำลังกระเตื้องขึ้นเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทเอกชนแข็งแกร่งขึ้น

  • นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ระดับ 7% นั้นเป็นระดับต่ำสุดที่จีนจะสามารถยอมรับได้ นับเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจถ้าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากไป

  • มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอินโดนีเซียในไตรมาส 2 สูงขึ้น 18.9% คิดเป็นมูลค่า 6.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากที่ขยายตัว 30.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการขยายตัวของ FDI ที่ชะลอตัวลงอย่างมากนั้นมีเหตุจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงทำให้แผนการขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศล่าช้าออกไป ทั้งนี้ กระแสเงินทุน FDI ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในภาคเหมืองแร่ การคมนาคม และเคมีพื้นฐาน

  • ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ล่าสุดที่ 4.2% เนื่องจากความต้องการบริโภคอาจชะลอตัวยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนด้วย แต่เชื่อว่าชะลอลงแค่ชั่วคราว ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น รวมถึงจีน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนอยู่ที่ 12% ยุโรป 10% และสหรัฐ 10% แต่มีการส่งออกไปอาเซียนเป็นสัดส่วน 20% ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้บ้าง

  • ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่า ธปท.ระบุว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 4.2% ซึ่งไม่ต่ำกว่าศักยภาพ เพราะยังดีอยู่หากเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหา 3 ประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ 1.ปัญหาขาดแคลนปัจจัยการผลิตคือจำนวนแรงงาน เพราะโครงสร้างประชากรในไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย 2.การพึ่งพาการย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมเป็นไปได้ยากขึ้น และ 3.คุณภาพปัจจัยการผลิต กล่าวคือประเทศไทยยังมีช่องว่างเรื่องการศึกษา นวัตกรรม กฎหมายและการบังคับใช้ที่ดี ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ ไทยก็จะเป็นประเทศ Middle Income ไปเรื่อยๆ




  • SET Index ปิดที่ 1,513.31 จุด เพิ่มขึ้น 31.47 จุด หรือ +2.12% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 50,500 ล้านบาท โดยดัชนีเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค จากการที่นายกรัฐมนตรีจีนประกาศว่าจะไม่ยอมให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีต่ำกว่า 7% ทำให้นักลงทุนลดความกังวลเรื่องการชะลอตัวของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หุ้นที่มีผลต่อการปรับขึ้นของตลาดมากที่สุดได้แก่ กลุ่มโทรคมนาคมซึ่งมีประเด็นบวกจากการจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ของบริษัท TRUE ด้วย




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุไม่เกิน 40 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยระหว่าง -0.01% ถึง 0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 13 ปี มูลค่ารวม 22,000 ล้านบาท

  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับความเสี่ยงของเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของเงินฝาก และตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศ (LC) และสกุลเงินต่างประเทศ (FC) ของผู้ออกตราสารหนี้ของไทย ดังนี้ 



  1. เพดานอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท ปรับจาก Aa2 มาอยู่ที่ A1

  2. เพดานอันดับความน่าเชื่อเงินฝากระยะยาวสกุลเงินบาท ปรับจาก Aa2 มาอยู่ที่  A1

  3. เพดานอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศยังคงอยู่ที่ A2 แต่เพดานอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ ปรับจาก P-2 มาอยู่ที่ P-1

  4. เพดานอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศยังคงอยู่ที่ Baa1 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่ P-2


การปรับในครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางในการกำหนดเพดานความเสี่ยงสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศซึ่งมูดี้ส์ได้ประกาศไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อพันธบัตรรัฐบาลไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น