ผอ.ท่าเรือแหลมฉบังผุดแนวคิด “IT Port” ดึง “เนคเทค” ร่วมวางแผนแม่บท คาดใน 2 เดือนสรุปเสนอ “ชัชชาติ-พ้อง” พิจารณาได้ เผยระบบไอทีเต็มรูปแบบคือการรวมศูนย์ข้อมูลของทุกหน่วย ทำให้บริหารจัดการสินค้า-รถบรรทุกได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนแก้ปัญหาส่วยได้ และยังเพิ่มขีดรองรับตู้สินค้าได้อีก 20% ไม่ต้องเร่งขยายเฟส 3 ส่วนประมูลปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 940 ล้าน เอกชนเมิน-ชี้ราคากลางต่ำเกินจริง
เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า หลังจากท่าเรือแหลมบังได้ดำเนินการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในระยะเร่งด่วน ทั้งถนนเข้า-ออกท่าเรือ หน้าประตูตรวจสอบสินค้า และภายในเขตรั้วศุลกากร โดยได้ปรับปรุงประตูตรวจสอบสินค้า
ปัจจุบันรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเฉลี่ยกว่า 1 หมื่นคันต่อวันผ่านเข้าออกได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงใช้เวลาในการดำเนินการในเขตท่าเรือ (Truck Turnaround Time) ตามเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยไม่เกิน 30 นาทีในหลายท่า แต่ยังมีบางช่วงเวลาที่ยังใช้เวลาเกิน 30 นาทีบ้าง ซึ่งจะเพิ่มเครื่องมือในการให้บริการเพื่อความรวดเร็วขึ้น
ส่วนในระยะต่อไป คือ โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในและภายนอกเขตท่าเรือฯ เช่น ขยายประตูเข้าท่าเรือ ขยายถนนและทางยกระดับ (Over Pass) วงเงินลงทุนประมาณ 940 ล้านบาท (ดำเนินการ 3 ปี 56-58) ซึ่งได้เปิดประกวดราคาแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ โดยอ้างว่าราคากลางต่ำกว่าราคาตลาด 30-40% ไม่สามารถดำเนินการได้จริง
โดย ทลฉ.กำลังตรวจสอบข้อมูลว่าราคากลางที่กำหนดเหมาะสมหรือไม่ซึ่งต้องยอมรับการกำหนดราคากลางค่อนข้างเข้มข้น เนื่องจาก กทท.ไม่มีความเชี่ยวชาญงานก่อสร้างถนนหรือทางยกระดับ
เรือเอก สุทธินันท์กล่าวว่า การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องนำระบบไอทีเข้ามาให้บริการเต็มรูปแบบซึ่งจะเป็นการยกระดับท่าเรือแหลมฉบังเป็น IT PORT หรือท่าเรือที่มีความทันสมัยอันดับต้นๆ ของโลก โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการวางแผนการพัฒนาระบบไอทีของแหลมฉบัง ซึ่งจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือน จากนั้นจะนำแผนหารือเบื้องต้นกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล กทท. หากนโยบายเห็นชอบจะเร่งจัดทำแผนแม่บทให้เสร็จใน 6 เดือนเพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.และเริ่มโครงการในปี 2557
ทั้งนี้ การนำระบบไอทีแบบ Full System เข้ามาบริหารจัดการการให้บริการต่างๆ ของท่าเรือ ประเด็นสำคัญ จะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ภายในเขตทางเรือและภายนอก ซึ่งเกิดจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ปริมาณรถบรรทุกเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ระบบไอทีจะช่วยจัดการรถบรรทุกแต่ละคันอย่างเหมาะสมตามข้อมูลล่วงหน้าที่จัดส่งเข้ามาในระบบสามารถจัดสรรได้ว่ารถคันนั้นๆจะต้องเข้าประตู (Gate) ใดโดยไม่ต้องจอดรถเพราะระบบจะทำให้รู้ว่าแต่ละ Gate มีรถอยู่จำนวนเท่าไร หรือหากต้องเข้าไปต่อคิวจะรู้ว่าต้องใช้เวลารอเท่าไร และยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถได้ตลอดเวลา กำหนดได้ว่าจะไปส่งหรือรับสินค้าที่ท่าใดซึ่งจะเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือไว้บริการได้ทันที
“ทุกวันนี้แต่ละหน่วยงานที่ให้บริการในท่าเรือใช้ระบบไอทีเกือบทั้งหมด แต่ระบบย่อยของใครของมัน ข้อมูลไม่ได้เชื่อมโยงกัน แนวคิดนี้เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลทั้งหมดทุกคนที่ต้องให้บริการใช้ร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้วยังจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของแหลมฉบัง เฟส 1, 2 จาก 10.8 ล้านทีอียูต่อปี ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 20% ส่งผลดีคือไม่จำเป็นต้องเร่งรัดขยายแหลมฉบังเฟส 3 ทำให้ภาครัฐมีเวลาพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังถูกคัดค้านอยู่ นอกจากนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่เกิดขึ้นยังมีความจำเป็นต้องศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการขยายเฟส 3 ด้วย เพราะข้อมูลอาจจะเปลี่ยนไปจากการศึกษาเดิม ที่สำคัญระบบไอทีที่สามารถตรวจสอบการให้บริการได้ทุกขั้นตอนนั้นทำให้มีความโปร่งใสและแก้ปัญหาเรื่องเงินใต้โต๊ะหรือส่วยได้เป็นอย่างดี” เรือเอก สุทธินันธ์กล่าว