ศูนย์ข่าวศรีราชา - การท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมผุดท่าเรือชายฝั่ง (A) และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง โดยลงทุนเองทั้งหมด ประมาณ 5,000 ล้านบาท หาก ครม. ผ่านความเห็นชอบพร้อมดำเนินการได้ทันที
เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงโครงการท่าเรือชายฝั่ง (A) และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง (SRTO) ยังไม่มีความคืบหน้ามากเท่าไรนัก โดยโครงการท่าเรือชายฝั่ง (A) นั้น ขณะนี้ทางสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านแล้ว การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านแล้ว โดยเหลือทางคณะกรรมการชุดใหญ่นำไปพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ส่วนโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง (SRTO) อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกัน คาดว่าไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน
ทั้ง 2 โครงการนั้นต้องการให้เร่งรัดดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีปัญหาด้านการจราจร เพราะมีรถบรรทุกสินค้าหนาแน่นมาก ทำให้การจราจรติดขัดเป็นเวลานาน สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการ และประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว ประกอบกับพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายเป็นหลุมบ่อ จึงต้องทำการซ่อมแซมอย่างหนัก จึงส่งผลกระทบต่อการจราจรบริเวณดังกล่าวด้วย
เรือเอกสุทธินันท์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับโครงการท่าเรือชายฝั่ง (A) นั้น หากได้รับการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. ทางการท่าเรือฯ สามารถประกาศประกวดราคา และทำสัญญาก่อสร้าง คาดใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมคาดว่าประมาณเดือนตุลาคม นี้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้ง 2 โครงการ
สำหรับโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (A) วงเงิน 1,959.49 ล้านบาท และศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) วงเงินลงทุน 3,062.65 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดนั้น กทท.ได้เสนอว่าจะดำเนินการเองจากเดิมที่จะใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เนื่องจากใช้เวลากว่า 4 ปีแล้วยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เรือเอกสุทธินันท์ กล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาดำเนินการเองทั้งหมดเพราะเห็นว่าโครงการมีต้นทุนที่ต่ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เพราะถ้าให้สัมปทานเอกชนซึ่งจะต้องคิดต้นทุนบวกกำไร ดังนั้น จึงลงทุนเองทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางการท่าเรือฯ อาจจะใช้วิธีจ้างเอกชนเข้ามาทำงานบางส่วน เช่น การยกตู้สินค้าจากรางรถไฟไปยังเทอร์มินัลต่างๆ เป็นต้น หากรายได้ที่การท่าเรือฯ จะได้รับนั้นอาจจะล่าช้าหรือคุ้มทุนช้าไม่น่ามีปัญหาเพียงแต่ต้องการพัฒนาด้านระบบลอจิสติกส์ให้ดีขึ้น